messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต ระหว่าง กฟน. – ส.อ.ท. เน้นย้ำการผลักดันพัฒนากำลังคน และสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ สนับสนุนการทำงานที่สำคัญ

สอวช. ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต ระหว่าง กฟน. – ส.อ.ท. เน้นย้ำการผลักดันพัฒนากำลังคน และสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ สนับสนุนการทำงานที่สำคัญ

วันที่เผยแพร่ 12 กรกฎาคม 2022 910 Views

(11 กรกฎาคม 2565) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นสักขีพยานและประกาศความร่วมมือในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy (RE) และ Carbon Credit ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ห้อง 1012 ชั้น 10 สำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีขึ้นเพื่อจัดทำฐานข้อมูลและรับรองการผลิตไฟฟ้า RE และ Carbon Credit โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของ ส.อ.ท. เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ RE ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ในการตอบโจทย์และแก้ปัญหาของการค้าการส่งออกของประเทศไทย

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้เห็นการร่วมมือการดำเนินงานและนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการ ERC Sandbox ในระยะที่ 2 ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ประเทศไทยยังต้องการการขับเคลื่อนในหลายส่วน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่ง สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ได้ทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) การพัฒนากำลังคน และการเชื่อมโยงกับแหล่งทุน หน่วยงานให้ทุนต่างๆ ในด้านการทำวิจัยและนวัตกรรม

สอวช. รับหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) ที่เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งในส่วนนี้สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับพันธมิตรและสนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการเจรจาเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาได้

สำหรับการพัฒนากำลังคน ได้ตั้งเป้าผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน Carbon Verification Standard (CVS) จำนวน 200 คน โดยจะเริ่ม kick-off ผลิตกำลังคนล็อตแรกในเดือนสิงหาคม และอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญคือการสร้างความตระหนักและความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของการสร้างความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านต่างๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีผู้ประกอบการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง จะสามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 2.5 เท่า หรือ 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้ 1.5 เท่า หรือ 150% นอกจากนี้ สอวช. ยังมีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการสนับสนุนด้านการเงิน สำหรับการฝึกอบรมบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือในฝั่งผู้ประกอบการได้

ด้านนายนพดล ปิ่นสุภา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ กฟน. ในการลงนามในครั้งนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนำร่องฯ นี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวมาได้

ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อมของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จำกัด อีกทั้งเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลนวัตกรรมด้านพลังงานทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานแบบใหม่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำลง ช่วยลดมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าด้วยการจัดการแบบใหม่และการใช้พลังงานสะอาด

เรื่องล่าสุด