(19 กรกฎาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “The World is in Crisis, How Can We Rescue? โลกป่วยขั้นวิกฤต…จะกู้โลกได้อย่างไร” เป็นส่วนหนึ่งในงาน “ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” จัดโดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงมุมมองของโลกในปัจจุบัน ที่นอกจากจะป่วยด้วยความเสื่อมลงทางด้านศีลธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรง อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงต่อไป เมื่อพูดถึงเรื่องของการสร้างความยั่งยืน จึงต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศร่วมด้วย
“ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกิดจากตัวเราเอง ซึ่งไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้ แม้จะรู้ถึงผลกระทบ แต่ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขตัวเราเองได้ สิ่งสำคัญจึงต้องสร้างความตระหนักให้รู้ว่าปัญหานั้นจะส่งผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพ และยังกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร ในสมัยก่อนเราอาศัยการพึ่งพาธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเราพึ่งพาธรรมชาติได้ยากขึ้น เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง หากมองในภาคอุตสาหกรรมก็จะไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากขาดวัตถุดิบและปัจจัยสำคัญหลายอย่าง นี่จึงถือเป็นความป่วยที่คิดว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อประเทศของเรา” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือเป็นปัญหาสากล เพราะฉะนั้นการแก้ไขจึงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่งจากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Innovation Roadmap for Industrial Decarbonization” ที่ สอวช. จัดร่วมกับ SCG และได้มีการระดมความเห็นจากบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการศึกษาและวิจัย พบว่า นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งการจะทำนวัตกรรมได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาก ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาชนคนไทยเอง
ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวว่า นวัตกรรมจะช่วยให้เรามีหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาโลกป่วย ปัญหาโลกร้อน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ด้วยนวัตกรรม ต้องมีกลไกอย่างน้อย 3 อย่างที่จะนำมาใช้ ได้แก่ กลไกแรกคือกลไกด้านความร่วมมือ ต้องมีการร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กลไกต่อมา คือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องการ know-how ต้องการเทคโนโลยีที่ใหม่และมีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วย ซึ่งจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ มองถึงโอกาสของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 ด้าน คือ 1. Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน 2. Hydrogen พลังงานทางเลือกไฮโดรเจน รวมถึงการไปสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen economy) 3. Fuel Switching การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการใช้เชื้อเพลิง จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน 4. Electrification เช่น การจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และกลไกสุดท้าย คือกลไกการสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบายของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วย หรือในระดับสากล จะมีกลไกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่จะช่วยสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านการเงิน
นอกจากนี้ ดร. กิติพงค์ ยังได้เชิญชวนทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน โดยมีการจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายของประเทศ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านการขับเคลื่อนของทั้ง 4 เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะมีการเดินหน้าต่อโดยการจัดตั้งเป็น consortium ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป