messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เปิดเวทีระดมความเห็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเป้าจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมเตรียมนำเสนอกลไกความร่วมมือในเวทีเอเปคปลายปีนี้

สอวช. เปิดเวทีระดมความเห็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเป้าจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมเตรียมนำเสนอกลไกความร่วมมือในเวทีเอเปคปลายปีนี้

วันที่เผยแพร่ 4 สิงหาคม 2022 751 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ครั้งที่ 2 (Circular Economy Technology Foresight Workshop) ในรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 60 คน จากหลายเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไทย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น บรูไน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุประเด็นสำคัญ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมทั้งกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มี ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการริเริ่มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาทั้งในระดับเขตเศรษฐกิจและระดับภูมิภาค การจะจัดการกับสถานการณ์และความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือและความมุ่งมั่นที่ทำให้เกิดการประชุมในครั้งนี้ขึ้นมา และเมื่อพูดถึงข้อกังวลในการเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโลก ยังต้องมองในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือด้าน วทน. เพื่อการค้าและการลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับภูมิภาคและในสังคมโลก

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพูดคุยในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น สุขภาพและมลภาวะ ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหารและทรัพยากร ตลอดจนประเด็นเรื่องโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องหารือถึงวิธีจัดการและรับมือกับปัญหาแต่ละประเด็นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทุกคนด้วย

ดร. กิติพงค์ ยังได้เน้นย้ำว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเขตเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปคและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลก พร้อมเผยถึงความเชื่อมั่นว่า วทน. จะเป็นหนึ่งในกุญแจที่สำคัญที่สุดในการไขคำตอบสำหรับปัญหาต่างๆ ในโลกยุคใหม่ได้ ซึ่งผลที่ได้จากการหารือในครั้งนี้คาดหวังว่าจะนำไปสู่โอกาสและผลลัพธ์ที่ดีอีกมากมายในอนาคต

ในการประชุมได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) สุขภาพและมลภาวะ (Health & pollution) 2) ความเคลื่อนไหวทางสังคม และการเติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน (Accelerated social movement, sustainable growth & collective wealth) 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยง (Climate change and risks) 4) การผลิตและการบริโภคอย่างชาญฉลาด (Smart manufacturing and smart consumption) 5) ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร (Food safety and security) 6) การขาดแคลนทรัพยากรและความปลอดภัย (Resource scarcity and security) 7) โลกาภิวัตน์ / โลคัลไลเซชัน (Globalization / localization) และ 8) การเกิดและการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (Emerging, transformative Technology platforms) ทั้งนี้ เพื่อให้การระดมความเห็นกระชับขึ้น จึงได้รวมกลุ่มย่อยที่ 5) และ 6) เข้าด้วยกัน

ต่อเนื่องจากการประชุมในครั้งแรก ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาสำคัญในแต่ละกลุ่ม โดยเจาะลึกลงไปตั้งแต่การอธิบายและให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ทั้งในแง่ความท้าทายและโอกาส ส่วนต่อไปคือการมองถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การพัฒนาเทคโนโลยีหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ส่วนต่อมาคือปัจจัยสนับสนุน ทั้งในด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ การสร้างขีดความสามารถด้านที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายคือกลไกการสร้างความร่วมมือในเวทีเอเปค ที่จะเป็นโอกาสในการทำงานร่วมกัน เช่น รูปแบบการทำข้อตกลง การจัดทำโครงการ หรือการพัฒนาในด้านต่างๆ

สำหรับการระดมความเห็นในครั้งนี้ได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ ในกลุ่ม Health & pollution มองว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ มลภาวะทางอากาศ น้ำ และดิน ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ รวมถึงการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงแนะให้มีศูนย์กลางการรีไซเคิลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค มีโรงกลั่นชีวภาพ โรงหล่อชีวภาพ และมีศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่เตรียมพร้อมรองรับ ในกลุ่ม Climate change and risks มองว่าปัญหาสำคัญคือการพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในแง่ของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเสนอให้มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในรูปแบบพลังงานหมุนเวียน ส่วนกลไกการขับเคลื่อนในเวทีเอเปค จะต้องมีแผนที่นำทางสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าที่จำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ ที่คนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 รวมถึงต้องมีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับโลก กระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสร้างโอกาสทางอาชีพ ในกลุ่ม Food safety and security และกลุ่ม Resource scarcity and security มองว่าประเด็นปัญหาสำคัญคือเรื่องทรัพยากร ที่ต้องนำไปรีไซเคิลเพื่อลดวงจรการเกิดของเสีย และยังมองถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร ที่จะเป็นโอกาสสำหรับอาหารรูปแบบใหม่ เช่น โปรตีนจากพืช (Plant-based meat) หรือโปรตีนทางเลือกอื่นๆ (Alternative proteins) ซึ่งตัวอย่างกลไกการขับเคลื่อนในเวทีเอเปค คือ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมที่เกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic biology) เป็นต้น

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) กล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Statement และนำเสนอในเวทีการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI Ministerial Meeting) ที่มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทยในเดือนตุลาคม รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC Summit) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ด้วย

เรื่องล่าสุด