ใจนึงก็อยากเรียนต่อ อีกใจนึงก็อยากทำงานที่ได้ใช้ศักยภาพตัวเอง ส่วนบริษัทก็อยากได้บุคลากรที่พร้อมทำงาน ตรงงาน ตรงใจ ทุกความต้องการ ที่ตอบโจทย์ทั้งการเรียน และการทำงานเป็นจริงได้!
เพียงแค่ร่วมโครงการ Hi-FI Consortium หรือ Higher Education for Industry Consortium
เครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาและการทำวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา และผลิตกำลังคนคุณภาพสูงให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม
โครงการถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมปฏิบัติงาน โดยมีมหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการ ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายการทำงานในอุตสาหกรรม การคัดเลือกบุคลากรเข้าโครงการ และการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ภายในระยะเวลาสูงถึง 2 ปี แบบ Tailor Made โดยเริ่มนำร่องโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอวช. และ สวทช. ซึ่งปัจจุบันขยายเป็นรูปแบบเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา (Consortium) กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.ขอนแก่น ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวม 9 แห่ง
3 เป้าหมายหลักของโครงการ Hi-FI Consortium ได้แก่
1. สามารถใช้โจทย์ทางธุรกิจเพื่อการวิจัยพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นเป้าหมายร่วมของอุตสาหกรรมและสถานศึกษา
2. ผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท) ในอุตสาหกรรม ผ่านการจัดการศึกษาแบบเฉพาะสำหรับบริษัท
3. สร้างเครือข่ายการทำงานแบบ Consortium รองรับโจทย์ที่หลากหลายของอุตสาหกรรม ด้วยสหสาขาวิชาชีพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
เมื่อภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ Hi-FI จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?
ค้นหาอาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ตรงสาขาความต้องการ โดยการประชุมหารือร่วมกับบริษัท แลกเปลี่ยนความเห็น โอกาสความสำเร็จ และประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยใช้กลไก ITAP เป็นมาตรฐาน
อาจารย์ที่ปรึกษาจัดทำเอกสารมีเนื้อหา เช่น สรุปโจทย์ความต้องการ ขอบเขตการวิจัยของนิสิต/นักศึกษา แผนงาน งบประมาณ และการจ่ายเงิน เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางกำกับโครงการร่วมกัน
โดยบริษัทสามารถมอบหมายให้คนในบริษัทมาเป็นหนึ่งในทีมร่วมดำเนินการ ส่วนมหาวิทยาลัยทำการรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร และจัดสอบคัดเลือกนิสิต/นักศึกษาร่วมกับบริษัท
นิสิต/นักศึกษาปฏิบัติงานให้แก่บริษัท พร้อมทั้งศึกษาวิจัยร่วมกับบริษัท และอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดจนจัดให้มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของนิสิต/นักศึกษา และรับฟังข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากบริษัท
ทีม ITAP เป็นหน่วยประสานงานให้มีการสรุปการดำเนินงานในรอบ 6, 12, 18 และ 24 เดือน จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก
นิสิต/นักศึกษา นำเสนอผลงานวิชาการตามเกณฑ์ของหลักสูตร และนำเสนอผลงานวิจัย รวมถึงข้อมูลสนับสนุนด้วยหลักฐานทางวิชาการต่อบริษัท และปิดโครงการ
การสนับสนุนโครงการ Hi-FI Consortium ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2565 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการปฏิรูประบบ อววน. การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรผ่านการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง (Experiential Learning) เรื่อง การสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตกำลังคนคุณภาพสูงผ่านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Hi-FI) จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Hi-FI ได้ที่นี่ คลิกเลย! https://www.hifi.sc.chula.ac.th/