messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมการประชุม COP27 พร้อมจัด Panel Discussion ในกิจกรรม Thailand Pavilion Side Event

สอวช. ร่วมการประชุม COP27 พร้อมจัด Panel Discussion ในกิจกรรม Thailand Pavilion Side Event

วันที่เผยแพร่ 16 พฤศจิกายน 2022 645 Views

สอวช. เข้าร่วมการประชุม COP27 ในฐานะคณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และจัดกิจกรรม Panel Discussion ที่ Thailand Pavilion Side Event ภายใต้หัวข้อ “Mechanisms for Technology Transfer to Combat Climate Change” เพื่อร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือและกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งมิติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และ ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ระหว่างวันที่ 3 – 18 พฤศจิกายน ที่เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

โดย สอวช. ได้มีการจัดเสวนา Panel Discussion ในกิจกรรม Thailand Pavilion Side Event COP27 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่าย CTCN ได้แก่ 1) Dr. Clara Landeiro, CTCN Regional Manager for Asia and the Pacific, CTCN (UNFCCC), UNEP 2) Professor Dr. Eugenie L. Birch, , Nussdorf Professor of Urban Research and Education and the Chair of the Graduate Group in City and Regional Planning at the University of Pennsylvania และ 3) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. และผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอด เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ซึ่งมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในเวทีเสวนา Thailand Pavilion ได้นำเสนอกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการต่อสู้ ปรับตัว และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับสาขาต่าง ๆ เพื่อเสนอกลไกและความร่วมมือระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย และยังได้มองไปถึงการวางผังเมือง (Urban Planning) ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ กลไกการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเป็นแพลตฟอร์มการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบ ช่วยส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หนุนเสริมภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกสนับสนุนด้านการเงิน ผ่านการพัฒนากลไกการร่วมลงทุนด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากแหล่งทุนภายในและภายนอกประเทศ แหล่งทุนจากภาคเอกชน และสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการยกระดับ (Scale-up) และการทดลอง (demonstration) ผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป

เรื่องล่าสุด