messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วม จัดสัมมนา “แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับของประเทศ” หวังขยายผลสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สอวช. ร่วม จัดสัมมนา “แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับของประเทศ” หวังขยายผลสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

วันที่เผยแพร่ 9 กุมภาพันธ์ 2023 1440 Views

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของประเทศ” และจัดแสดงนิทรรศการอากาศยานไร้คนขับ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 – 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

การเปิดเวทีสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังและระดมความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโดรนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก้าวต่อไปของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งในบริบทการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการส่งเสริม พัฒนา และการประยุกต์ใช้ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของอากาศยานไร้คนขับ ที่สามารถแข่งขันกับนานาชาติในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น 1) การทหารและความมั่นคงของชาติ (Military & National Security) 2) การเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) หรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) 3) การทำแผนที่และการสำรวจ (Mapping & Survey) 4) การเฝ้าระวังและตรวจสอบความปลอดภัย (Surveillance & Monitoring) 5) การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Management) หรือการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) 6) ความบันเทิง (Entertainment) ให้มีความรู้ ความชำนาญ รวมไปถึงการนำระบบจัดการจราจร ทางอากาศของโดรนมาใช้งานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ โดยในงานสัมมนาได้รับเกียรติจาก นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวเปิดงาน

นายมนูญ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของประเทศ และการจัดแสดงนิทรรศการอากาศยานไร้คนขับ ถือว่าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-curve ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต และการนำไปประยุกต์ใช้ สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ อยากเห็นคือ ข้อเสนอแนวทางการกำกับดูแล (Regulation Scheme) การบริหารจัดการคลื่นความถี่ รวมไปถึงแนวทางการฝึกอบรมที่มีหลายระดับ สอดคล้องกับมิติการประยุกต์ใช้งานโดรนประเภทต่าง ๆ

“ประเทศไทยมีศักยภาพ แต่สิ่งที่ต้องผลักดันต่อคือการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น การปรับโครงสร้างภาษี ที่ปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ โดยหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมโดรน และการประชุมระดมความเห็น จะช่วยทำให้เห็นถึงอุปสรรค หรือข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมในประเทศ และสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้เกิดการเติบโต สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขันโดรนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป” นายมนูญ กล่าว

สำหรับบทบาทของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำหน้าที่ร่วมวิเคราะห์และจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของประเทศ และประสานงานหน่วยงานทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ใช้งานโดรน  สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย มาจัดแสดงนิทรรศการ กว่า 15 หน่วยงาน โดยมีการแสดงผลงานโดรนที่พัฒนาโดยคนไทย และการประยุกต์ใช้งาน เช่น โดรนเกษตร โดรนตรวจสอบแผงโซล่าเซลล์ โดรนสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ โดรนปฏิบัติภารกิจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) คือ “แพลตฟอร์มให้บริการเช่าระบบหรือให้บริการข้อมูลดิจิตอลทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับแบบระบบสมาชิก” และ “การจัดทำมาตรฐานและแพลตฟอร์มการให้บริการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้สถาบันโดรน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” และมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบายและประสานยุทธศาสตร์ และฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม (นายธนาคาร วงษ์ดีไทย) เลขานุการและอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดรน และชลยานไร้คนขับเพื่อการพัฒนา ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ

ในงานยังได้เปิดเวทีสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 แลกเปลี่ยนการประยุกต์ใช้งานอากาศยานไร้คนขับในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตร ด้านการสำรวจ ด้านอุบัติภัยและภัยพิบัติ และด้านโลจิสติกส์ ส่วนที่ 2 แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรน ทั้งด้านการผลิต การซ่อมบำรุงและฝึกอบรมบุคคล นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับการพัฒนาโดรน และการส่งเสริมผู้ประกอบการโดรน และส่วนที่ 3 แลกเปลี่ยนเรื่องการควบคุมและกำกับดูแลโดรน  จากนั้นจึงได้มีการเปิดประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของประเทศ ซึ่งข้อมูลความเห็นที่ได้รับจากงานสัมมนา ฝ่ายนโยบายและประสานยุทธศาสตร์จะนำผลสรุปที่ได้มาวิเคราะห์และจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ต่อไป

เรื่องล่าสุด