messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ร่วมประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา สมัยที่ 22 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ร่วมประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา สมัยที่ 22 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วันที่เผยแพร่ 27 พฤษภาคม 2019 473 Views


เมื่อระหว่างวันที่ 12 – 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (United Nations Commission on Science and Technology for Development หรือ CSTD) สมัยที่ 22 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิก 41 ประเทศ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ และองค์การพัฒนาภาคเอกชนกว่า 200 คน ซึ่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้เป็นหนึ่งในห้าประเทศสมาชิกผู้แทนจากภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกในคณะกรรมการ CSTD (ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย) ทั้งนี้ การประชุม CSTD มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านบทเรียนและแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ รวมถึงทิศทางที่สำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนา วทน. เพื่อส่งเสริมให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 ได้ โดยข้อเสนอแนะจากผลการประชุมจะรายงานต่อคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติต่อไป การประชุม CSTD ในครั้งนี้มีหัวข้อการหารือที่สำคัญ (priority themes) คือ (1) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (2) บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างชุมชนที่มีภูมิคุ้มกัน

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมในฐานะผู้แทนไทย โดยได้เน้นย้ำถึงคุณค่าของข้อเสนอแนะและผลการทำงานของ CSTD ในการยกระดับนโยบายและการดำเนินงานด้าน วทน. สำหรับประเทศต่าง ๆ โดยประเทศไทยได้ใช้ผลการศึกษาทบทวนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI policy review) สำหรับประเทศไทย ที่ร่วมจัดทำโดยอังค์ถัด (UNCTAD) ฝ่ายเลขานุการ CSTD เป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประธาน CSTD กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการร่วมจัดทำ “กรอบการทำงานสำหรับการศึกษาทบทวนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม – A Framework for Science, Technology and Innovation Policy Reviews” ซึ่งเป็นกรอบการทำงานที่ CSTD ปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อใช้ศึกษาทบทวน และให้คำแนะนำกับประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ในการพัฒนานโยบาย วทน. ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)


นอกจากนี้ สอวช. และคณะผู้แทนถาวรไทยประจําสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยความร่วมมือกับ UNCTAD ยังได้ร่วมจัดการประชุม CSTD Side Event หัวข้อ “Advancing STI Partnerships for Sustainable Development: Experience from ASEAN” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความร่วมมือของอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียน โดยได้รับเกียรติจาก นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา Dr.Rowena Cristina L. Guevarra ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอาเซียน ผู้แทนจาก UNCTAD CSTD และ Chinese Academy of Sciences ร่วมเสวนา

ในการประชุมดังกล่าว ดร.กาญจนา ได้เน้นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน และด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากประเทศสมาชิกในระยะที่ผ่านมาในการเสริมความแข็งแกร่งด้าน วทน. ผ่านการสนับสนุนศูนย์เครือข่ายเชี่ยวชาญ การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ร่วมกัน และโครงการการพัฒนาขีดความสามารถด้าน วทน. ทำให้ประเทศในอาเซียนมีคุณภาพงานวิจัยที่ดีขึ้น มีการยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีจำนวนบริษัท startup เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในอนาคต โดยการดำเนินงานในระยะต่อไป ประเทศไทยจะเน้นส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้าน วทน. ผ่านกลไกสำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจนวัตกรรม (Economic Zone of Innovation) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ (Big Science Infrastructure) ในระดับอาเซียน เครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Network) การพัฒนาและแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย (Talent Development & Mobility) ในสาขาที่ขาดแคลน เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนถึงบทบาทที่ชัดเจนของไทยในการร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุม CSTD และติดตามผลการประชุม ได้ที่ https://unctad.org/en/pages/MeetingDetails.aspx?meetingid=1892

Tags:

เรื่องล่าสุด