messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ส่อง 6 หลักสูตร Sandbox ล่าสุด! พร้อมปั้นกำลังคน ตอบโจทย์ประเทศ

ส่อง 6 หลักสูตร Sandbox ล่าสุด! พร้อมปั้นกำลังคน ตอบโจทย์ประเทศ

วันที่เผยแพร่ 5 เมษายน 2023 4295 Views

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ “หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์” กันมาสักพักแล้วใช่ไหม? ชวนมาอัปเดตและทบทวนกันหน่อยว่าหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์คืออะไร ตอนนี้เป็นอย่างไร พัฒนาไปกี่หลักสูตรกันแล้ว

หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นับเป็นแนวทางสำคัญที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดในการจัดการศึกษา สามารถออกแบบและจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาได้ ซึ่งตอนนี้คลอดมาแล้วทั้งหมด 6 หลักสูตร โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จะมีหลักสูตรอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

🔸 1. หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ นำโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี เป็นหลักสูตรร่วมโดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาซึ่งครอบคลุมทั้งสถาบันที่มีการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์อยู่แล้วและสถาบันที่ยังไม่เคยผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์มาก่อน รวมถึงองค์กรรับรองทางวิชาชีพ และสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อแบ่งปันทรัพยากรในการจัดการศึกษา ทำให้สามารถขยายจำนวนการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ

🔸 2. หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur นำโดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thaichamber) และบริษัทต่าง ๆ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier knowledge) ด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี โดยอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้มีประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจและมีชื่อเสียงระดับโลก เน้นการทำโครงการ (Project-based) ร่วมกับภาคธุรกิจและเกิดเป็นธุรกิจ Startup ได้ นอกจากนี้เนื้อหาวิชาจะถูกทบทวน (revisit) จากนักธุรกิจชั้นนำตลอดทุกปี ทำให้อาจารย์ไทยและผู้เรียนก้าวทันองค์ความรู้สมัยใหม่

🔸 3. หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล จำนวน 1,880 คน ภายใน 8 ปี เป็นหลักสูตรร่วมเฉพาะทางด้าน AI เน้นสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based education) มีรูปแบบการเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะกับศักยภาพผู้เรียนแต่ละคนด้วย Competency Tracking Platform สามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่ายได้รับทั้งปริญญาและประกาศนียบัตร ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดของทรัพยากรในการจัดการศึกษา สามารถขยายจำนวนการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ รวมถึง Competency-based Education ทำให้บัณฑิตมีสมรรถนะที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

🔸 4. หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม นำโดยวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และสถาบันอุดมศึกษาตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม จำนวน 175 คน ภายใน 9 ปี เป็นหลักสูตรโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและองค์ความรู้ Frontier Science จากสถาบันวิจัย นักศึกษาปริญญาเอกจะได้ทำโครงการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อพัฒนา Deep Technology ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

🔸 5. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 1,200 คน โดยนิสิตจะได้ออกไปฝึกงานสม่ำเสมอทุกปี สามารถพัฒนาทักษะประกอบอาชีพได้ภายใน 2 ภาคเรียน สอบผ่านได้รับ Certificate และฝึกงานต่อทันทีในภาคฤดูร้อน นอกจากนี้ยังสามารถออกไปประกอบอาชีพระหว่างการศึกษาและกลับเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรโดยสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิตได้ ซึ่ง อว. จะใช้เป็นหลักสูตรต้นแบบเพื่อขยายกำลังการผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลซึ่งมีความต้องการบุคลากรมากกว่า 37,000 คน

🔸 6. หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบินนานาชาติ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendant) จำนวน 300 คน ในเวลา 5 ปี เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิต (Co-creation) อย่างเข้มข้น ใช้ผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงาน และเป็นหลักสูตรมาตรฐานระดับสากลได้รับการรับรองจากองค์กรการบินนานาชาติ ICAO/IATA พร้อมรับประกาศนียบัตรทำงานได้ทันที เมื่อเรียนจบยังได้รับการจ้างงาน 100% และเปิดโอกาสให้นักศึกษาปี 3-4 จากหลักสูตรอื่นสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่สอง (Double Degree) ได้

ทั้ง 6 หลักสูตรข้างต้นหลักสูตร ไม่เพียงแต่ทำให้การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ทั้งหมด ยังสะท้อนให้เห็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ได้แก่

🔹การจัดการศึกษาโดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา (University Consortium) เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของทรัพยากรในการจัดการศึกษา ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ

🔹การจัดการศึกษาโดยเครือข่ายภาคผู้ใช้บัณฑิต (Demand Consortium) เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการเชื่อมโยงระหว่าง Demand-Supply ทำให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตมากยิ่งขึ้น

🔹การจัดการศึกษาที่มีความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาตรฐานวิชาชีพไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนมาตรฐานหลักสูตรให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่มากยิ่งขึ้น

🔹การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะปลายทางให้ผู้เรียนอย่างแท้จริง (Competency-based Education) และการออกแบบหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานการสร้าง Technical skills และ Soft skills สำหรับการทำงานไปพร้อมๆ กัน ทำให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะที่ตอบโจทย์ พร้อมเริ่มงานได้ทันที

เพราะทุกก้าวของประเทศสําคัญ เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลลัพธ์ ด้วยพลังจากนโยบาย อววน.

เรื่องล่าสุด