messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เปิดเวทีแบ่งปันแนวทางสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม มุ่งเน้นผสานการทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ผ่านแรงขับเคลื่อน 3 พลัง ทั้งพลังจากความรู้ ประชาชน และอำนาจรัฐ

สอวช. เปิดเวทีแบ่งปันแนวทางสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม มุ่งเน้นผสานการทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ผ่านแรงขับเคลื่อน 3 พลัง ทั้งพลังจากความรู้ ประชาชน และอำนาจรัฐ

วันที่เผยแพร่ 25 เมษายน 2023 868 Views

(24 เมษายน 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) จัดงานประชุมเผยแพร่ผลการศึกษา “สมุดปกขาว : กลไกการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่นด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงโจทย์สำคัญของประเทศไทย ที่ต้องใช้กลไกนวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมด้านการจัดการ รวมถึงนวัตกรรมขององค์กร และที่สำคัญต้องตอบโจทย์ว่า ประชาชนหรือชาวบ้านจะได้อะไร จึงเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ สอวช. ริเริ่มให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) สำหรับประเทศไทย การจะขยับให้ประเทศก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ต้องคำนึงถึง 3 โจทย์สำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มรายได้ เพื่อช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยปัจจุบันรายได้ของเราอยู่ประมาณ 7,449 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 279,338 ต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ต้องเพิ่มให้อยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 429,750 บาท รวมถึงเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ เพิ่มจีดีพีของประเทศ จากประมาณ 17 ล้านล้านบาท ให้เป็น 28 ล้านล้านบาท จึงจะสามารถยกฐานะของประเทศขึ้นได้ 2) โจทย์ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ เป็นโจทย์ที่ สอวช. ใช้คำว่า Social Mobility เป็นการยกระดับหรือเพิ่มสัดส่วนประชากรกลุ่มฐานรากขึ้นมาอยู่ส่วนกลางของพีระมิด ทำให้ฐานพีระมิดแคบลง ซึ่งการพัฒนากลุ่ม SE จะเป็นส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในโจทย์นี้ได้ด้วย และ 3) โจทย์ในเรื่องความยั่งยืน มีโจทย์สากล คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในหลายส่วนครอบคลุมทุกกระบวนการทางธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตั้งแต่การค้า การลงทุน การส่งออกของบริษัทขนาดใหญ่ ลงไปจนถึงกลุ่มคนที่ผลิตวัตถุดิบ

หากสามารถแก้โจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ได้ จะช่วยให้ประเทศไทยขยับขึ้นได้ในระดับหนึ่ง และอีกส่วนที่สำคัญที่จะทำให้กลุ่ม SE เข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกช่วยแก้โจทย์เหล่านี้ได้ คือการเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีแรงขับเคลื่อน 3 อย่าง ประกอบด้วย 1) พลังของความรู้ 2) พลังของประชาชน ชาวบ้าน คนในท้องถิ่น ชุมชน รวมถึงประชาคม ซึ่งมีพลังอำนาจการต่อรองสูงมาก แต่มีความหลากหลายในการสร้างความร่วมมือเช่นกัน ดังนั้นการใช้ระบบสนับสนุนด้วย 3) อำนาจของรัฐจึงสำคัญ ทั้งนี้ ต้องมีองค์ประกอบที่ดี มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล โดยต้องมีขีดความสามารถ ในการออกแบบ ทำกลไก ที่จะทำให้วิสัยทัศน์บรรลุผลได้ โดยเฉพาะต้องมีความตั้งใจ ความมุ่งมั่นทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่วางเป้าหมายเอาไว้ อีกทั้ง ต้องอาศัยพลังความรู้ และพลังจากประชาชน ทั้งในเรื่องของภูมิปัญญา กำลังในการขับเคลื่อน รวมเป็นกลไกที่ผสมผสานกันให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถใช้อำนาจเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ต้องอาศัยอำนาจทั้ง 3 ส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเครื่องมือมากมาย ที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนทั้งกลุ่ม SE และนำไปสู่การตอบโจทย์สำคัญของประเทศได้ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ เรามีศูนย์บ่มเพาะหลายแห่ง และยังมีการเชื่อมโยงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ เชื่อมต่อไปยังมหาวิทยาลัยด้วย ในส่วนของการให้ทุน กระทรวง อว. มีหน่วยให้ทุนหลายหน่วยที่เรียกรวมกันว่า PMUs ที่กลุ่ม SE สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูล เพื่อดึงเข้ามาเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกิจได้ อีกมุมหนึ่ง คือการสนับสนุนเรื่อง Know-How การทำเทคโนโลยี การทำวิจัยที่สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับผู้ประกอบการด้วยการสร้างต้นแบบเพื่อสะท้อนบทเรียนและการต่อยอดการเรียนรู้ เช่น โรงงานต้นแบบ ไว้ให้โรงงานขนาดเล็กนำไปใช้เป็นแนวทางได้ และส่วนสุดท้ายคือการพัฒนาบุคลากรให้มี Talent Mobility แนวทางส่งเสริมให้บุคลากรมหาวิทยาลัย หรือบุคลากรในหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยสถานประกอบการ หรือเป็นที่ปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีการจัดการในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

ในงานได้มีการนำเสนอผลการศึกษาที่ได้จากสมุดปกขาวฯ โดยเนื้อหาสาระที่ได้ เกิดจากการเรียนรู้นโยบายผ่านกระบวนการ Policy Lab เป็นกลไกสำคัญศึกษาเส้นทางวิสาหกิจ จากการกลั่นความคิด การมองปัญหาและหาโอกาสของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการระดมสมองเพื่อออกแบบนโยบายของกลุ่มภาคีวิสาหกิจที่เข้าร่วม ซึ่งจะช่วยในการเติมเต็มความรู้ พัฒนากลไก และต่อยอดนโยบายให้เกิดการใช้จริง โดยความคาดหวังในการจัดทำสมุดปกขาวฯ ฉบับนี้ คือการช่วยลดข้อจำกัด อุปสรรคของการดำเนินงาน และพลิกโฉมการพัฒนาธุรกิจและยกระดับครัวเรือน มุ่งให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้น การดำเนินงานและความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางในการดำเนินนโยบาย เพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจและเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของภาคประชาสังคม มุ่งให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประชากรไทยยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้มีการเวทีเสวนา “ปลดล็อกศักยภาพวิสาหกิจเพื่อสังคม : จุดประกายความคิดเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน” โดย นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น จาก “จุดเริ่มต้น” สู่ “ผลกระทบทางสังคม” (From Start to Social Impact) เผยให้เห็นแนวทางการเข้าสู่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงแนวทางการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม นายจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนา SME และ Start up ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พูดคุยในประเด็น ร่วมทลายอุปสรรค : การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดสำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Breaking Barriers: Accessing Finance and Market for Sustainable Social Enterprises) ได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ดร.กาญจนา วานิชกร นักยุทธศาสตร์ระดับสูง สอวช. แบ่งปันข้อมูลในประเด็น สร้างผลกระทบทางสังคมผ่านพลังแห่ง อววน. : บ่มเพาะ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Driving Social Impact) โดยได้ชี้ให้เห็นถึงมาตรการการขับเคลื่อนต่างๆ ที่ กระทรวง อว. สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงขับเคลื่อนอยู่ เช่น การ Empower ชุมชนสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นฐานนวัตกรรม การจัดทำแพลตฟอร์ม Local Enterprise กลไก E-Commercial and Innovation Park (ECIP) และ SME Innovation Park เชื่อมโยงผู้ประกอบการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมและขยายตลาด เป็นต้น และ นางสาวพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ Founder & Managing Director, School of Changemakers ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน จากความหลงใหลสู่เป้าหมาย : การเดินทางของวิสาหกิจเพื่อสังคมชั้นนำ (From Passion to Purpose : The Journey of SE) โดยได้เล่าถึงแนวทางการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SE ตั้งแต่ริเริ่มมองถึงปัญหา เก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหา ไปจนถึงหาวิธีการแก้ไข

ในงานยังมีการจัดบูธแสดงสินค้าจากวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บริษัท โฟล์คชาร์ม จำกัด บริษัท คนกล้าคืนถิ่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท ลิฟวิ่งวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไม้ดอกเพื่อการค้าและท่องเที่ยวเชิงเกษตร I Love Flower

โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดสมุดปกขาวฯ SE ได้ที่: https://www.nxpo.or.th/WhitePaper_SocialEnterprise_2023

เรื่องล่าสุด