ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในการประชุมสัมมนา “Igniting Life Learning journey : จุดประกายเส้นทางการเรียนรู้” ที่จัดโดย บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด (ไบร์ทเทอร์บี) โดยระบุว่า สมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างมืออาชีพในปัจจุบัน สำหรับเด็กยุคใหม่นั้น ไม่ได้ต้องการความเก่งอย่างเดียว แต่ต้องทำงานมีความสุขด้วย โดยได้หยิบยก 3 ทักษะหลักทักษะที่ 1 คือ Critical skill ซึ่งเป็นที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการทำงาน ประกอบด้วย 2 ทักษะหลักคือ Hard Skill ซึ่งต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ และ Soft Skill หรือทักษะทางสังคม ที่นักศึกษาจำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ และนำไปใช้ เพราะในการเรียนการสอน ถ้าให้ความสำคัญแต่วิชาการเพียงอย่างเดียว เมื่อต้องไปทำงานจริง จะอยู่ไม่ได้ ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ และงานก็จะก้าวหน้าไม่ได้ด้วย
ทักษะที่ 2 คือ Future skill คือการทำตัวเราให้พร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเราจะสามารถรับมือได้ โดยต้องมีความรู้ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ยกตัวอย่าง อาชีพหมอ ความรู้เชิงลึกคือการแพทย์ การรักษาคน ขณะเดียวกันเมื่อไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต้องอยู่กับคนทั้งอำเภอ ภาระหน้าที่ต้องทำมากกว่าหมอทั่วไป คือไม่ใช่แค่รักษาคนไข้ แต่ต้องเป็นผู้นำชุมชน ต้องมีความรู้เชิงกว้างด้วย การเตรียมพร้อมที่ปรับตัวได้เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ และคนแบบนี้จะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
และทักษะที่ 3 Life Skill หรือ ทักษะชีวิต ถ้าเรามีทักษะชีวิตที่ดี การทำงานจะออกมาดีมาก ผลงานก็โดดเด่น มีความก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งการมีทักษะชีวิตคือ รู้ว่าเรามีเป้าหมายอะไร ความหมายของชีวิตเราคืออะไร เราเกิดมาเพื่ออะไร การมีทักษะชีวิตที่ดี จะรู้ว่าจะสามารถดูแลรับผิดชอบครอบครัวได้อย่างไร รู้ว่าอะไรดีไม่ดี และหากเรามีทั้ง 3 ทักษะนี้ ในสัดส่วนที่เหมาะสม งานก็จะก้าวหน้า ชีวิตก็จะมีความหมายและมีความสุข ซึ่งจะส่งผลให้คนรอบข้างเจริญตามไปด้วย
ผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้ยกคำสอนของ ขงจื๊อ ที่จำแนกคนออกมาเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
- สามัญชน คือคนที่ไม่ค่อยอยู่ในระเบียบวินัย ทำอะไรไปตามอำเภอใจ ไม่รู้กฎเกณฑ์สังคมว่าคืออะไร เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำงานได้แต่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
- บัณฑิต เป็นกลุ่มที่พอจะรู้หลักเหตุผล ทำงานได้ เลี้ยงตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ แต่ยังไม่มีอะไรโดดเด่น ที่ทำให้เกิดผลกระทบคนอื่นได้ ความก้าวหน้าก็จะค่อยเป็นค่อยไป
- ปราชญ์ สามารถทำงานที่อยู่ในทำนองคลองธรรม พูดจาน่าเชื่อถือ มีหลัก มีคุณธรรม มีอะไรที่เป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปได้
- วิญญูชน เป็นคนที่มีความรู้ มีความสามารถในการศึกษาเรียนรู้ บ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรมของตัวเอง พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก มีความสามารถที่ลึกล้ำหาคนเทียบได้ยาก
- อริยบุคคล เป็นคนที่เก่งอย่างล้ำลึก และทำอะไรให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ เกิดผลดีทั้งต่อครอบครัว องค์กร สังคม และทำผลงานที่ยิ่งใหญ่ให้ก้าวหน้าและเจริญขึ้น โดยที่คนรอบข้างอาจไม่รู้ว่าเขาได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นแล้ว
“ถ้าเราอยากได้คนที่อยู่ในกลุ่มวิญญูชน ก็ต้องพัฒนาคนให้มีสมรรถนะที่ตอบโจทย์ ไม่สร้างผลกระทบในแง่ลบให้กับตนเอง องค์กร และประเทศชาติ เกิดเป็นวงจรคุณธรรม คือพาคนให้ก้าวหน้า พัฒนาขึ้นทั้งหมด” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับแนวทางการสร้างสมรรถนะให้กับเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนิเวศการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการเติบโตของเด็ก ๆ ในยุคนี้ ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การที่จะได้มาซึ่งสมรรถนะมีหลากหลายช่องทางมาก ตั้งแต่ช่องทางใหญ่ ๆ คือเรื่องการศึกษา ที่ใส่มาในหลักสูตร ต้องรู้วิธีการสอดแทรกเข้าไปผ่านกิจกรรม ที่ทำให้เกิด Learning by doing ทำให้เด็กมีทักษะ มีสมรรถนะ และมี Growth mindset ส่วนต่อมาคือ การเรียน ที่ต้องยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ถ้าต้องการเห็นสมรรถนะอะไรในตัวเด็ก ต้องถอยกลับมามองว่าจะทำให้เกิดสมรรถนะนั้นต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้เยอะคือ design thinking
“การ Learning by doing เป็นการเรียนโดยการลงมือลงมือปฏิบัติจริง จะเกิดผลอย่างมาก แต่ต้องมีคนคอยช่วยเป็นเมนเทอร์ เป็นโค้ช อาจารย์มีบทบาทสำคัญมาก แต่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากมาสเตอร์ เปลี่ยนเป็น facilitator หาวิธีสนับสนุนส่งเสริมเด็กแต่ละคนให้ไปในทิศทางที่พวกเขาสนใจ ให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนในชั้นเรียน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กที่มีต้นทุนไม่เท่ากัน สามารถเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ สิ่งต่อมาคือการสร้างระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของเด็ก ต้องไปหาให้เจอว่าองค์ประกอบของระบบนิเวศ หรือ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง และองค์ประกอบเหล่านั้นต้องปรับอย่างไร อีกทั้งตัวผู้บริหาร ครู ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ฝึกการเป็น facilitator การรับฟัง มองถึงจุดแข็งของเด็ก และหาแนวทางส่งเสริมอย่างเหมาะสม” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว