(10 มิถุนายน 2562) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระดมเชิญคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ กว่า 60 ท่าน ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สอวช. โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานเปิดการประชุม
การประชุมนี้ ถือเป็นการประชุมร่วมกับคณาจารย์และบุคลากรวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาเวทีแรก หลังจากมีการเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. สู่ สอวช. ที่มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา ควบคู่ไปกับด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคณาจารณ์และบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ (Junior Group) อายุการทำงานไม่เกิน 5 ปี และกลุ่มคณาจารย์อาวุโส และบุคลากรวิจัย (Senior Group) อายุการทำงาน 5 ปีขึ้นไป โดยในการประชุม สอวช. ได้มีการนำเสนอข้อมูลแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ พร้อมนำเสนอโจทย์การพัฒนาประเทศ การวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนในอนาคต แนวคิดการพัฒนากำลังคน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต ตลอดจนข้อเสนอกลไกการพัฒนากำลังคน (Key delivery mechanisms) ใน 4 เรื่อง คือ 1.หลักสูตรและการพัฒนาบุคลากรราวมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (University – industry curriculum and training) 2. การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long learning (LLL)) 3. มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) 4. การเคลื่อนย้ายบุคลากร (Brain Circulation) ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนากำลังคนที่ สอวช. นำเสนอ มุ่งเน้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการใช้ศักยภาพบัณฑิตต่างชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในระบบนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรทั้งกลุ่มช่างเทคนิค วิศวกร ผู้จัดการนวัตกรรม และนักวิจัยให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมและมีจำนวนเพียงพอ กลุ่มคนวัยทำงานสามารถเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่ตอบการทำงาน โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและวัยวุฒิและตอบสนองรูปแบบการทำงานและการเรียนของแต่ละบุคคล ตลอดจนเกิดธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมูลค่าสูงอันเป็นผลผลิตจากองค์ความรู้ของสถาบันอุดมศึกษา
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากตัวเลขการสำรวจความต้องการบุคลาการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในช่วงปี 2562 – 2566 ที่พบว่ามีความต้องการกำลังคนในสายวิทยาศาสตร์ (STEM) ระดับปริญญาตรี โท และเอก (ไม่รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน) จำนวนถึง 107,045 ตำแหน่ง ผนวกกับเป้าหมายการพัฒนาไทยสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ทำให้เราต้องมุ่งสร้างและพัฒนากำลังคนให้ทันต่อโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งการหารือครั้งนี้ เป็นเวทีที่สำคัญมากที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างภาคการอุดมศึกษา และภาครัฐต้องมาร่วมกันคิดว่าจะสามารถพัฒนากำลังคนเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำกลไกการพัฒนากำลังคน ทั้งการปลดล็อกด้านกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการทำงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย การออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านกำลังคนในอนาคตของประเทศ การเคลื่อนย้ายบุคลากรไปทำงานนอกจากในมหาวิทยาลัย การสนับสนุนทุนด้านการวิจัยพื้นฐานควบคู่ไปกับการให้ทุนสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม ส่วนการพัฒนากำลังคนด้านสังคม ที่ประชุมเสนอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมองภาพรวมของการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมีการฟูมฟักทางด้านความคิดไปพร้อมกับการให้องค์ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างบุคลากรโดยเฉพาะการบ่มเพาะให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurship & Enterprise)
ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการให้ความสนใจในการแลกเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ คือ การปลดล็อกกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการให้อาจารย์หรือบุคลากรวิจัยในมหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ โดยหากสามารถขยายโครงการในรูปแบบ Talent Mobility หรือโครงการในรูปแบบที่มีการส่งเสริมให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมออกไปในวงกว้าง ผนวกกับมีการปลดล็อกกฎระเบียบทางด้านการอุดมศึกษาที่เป็นข้อจำกัดในการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศได้
“จากการประชุมร่วมกับคณาจารย์และบุคลากรวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา ได้เห็นถึงความตั้งใจในการสร้างและพัฒนากำลังคนของอาจารย์หลายๆ ท่าน โดยอุปสรรคหนึ่งที่คณาจารย์และบุคลากรวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งรุ่นใหม่และรุ่นอาวุโสเห็นร่วมกันคือ อุปสรรคด้านกฎระเบียบ และวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมที่เป็นกับดักในการพัฒนากำลังคน ซึ่งเห็นว่าหากมีการปฏิรูปมหาวิทยาลัย และปลดล็อกกฎระเบียบทางด้านการอุดมศึกษาที่เป็นข้อจำกัดในการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนากำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในส่วนคณาจารย์และบุคลากรวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษารุ่นใหม่ ได้มีข้อริเริ่มร่วมกันที่จะมีการรวมกลุ่มทำวิจัยนโยบายเพื่อทำข้อเสนอในรูปแบบแซนด์บ๊อกซ์ เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนแนวใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการทำการสำรวจความต้องการบุคลาการในสายที่มีความต้องการสูงและมีความต้องการเร่งด่วนก่อน จากนั้นกลุ่มจะช่วยกันคิดหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการโดยเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกับรูปแบบเดิม โดยหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาทำงานร่วมกัน และทำเป็นข้อเสนอโดยกำหนดโจทย์ผลิตบัณฑิตหัวกะทิในสายที่เป็นความต้องการให้ภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สอวช. ยินดีให้การสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 69 ในการสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา ที่สามารถให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดเรื่อง 1. ระยะเวลาดำเนินการ 2. ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน 3. การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต 4. กลไกและมาตรการในการกำกับ และการประกันคุณภาพการศึกษา 5. การตรวจสอบและติดตามประเมินผลโดยคณะผู้ประเมินผลอิสระ 6. การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อครบระยะเวลาดำเนินการแล้ว โดยในระหว่างที่สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาตามรูปแบบข้างต้น จะไม่ให้นำมาตรฐานการอุดมศึกษามาใช้บังคับแก่การ จัดการศึกษาดังกล่าว และให้ถือว่าการจัดการศึกษานั้นเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องแล้ว และในกรณีที่สภานโยบายเห็นว่าการจัดการศึกษาที่เสนอมาประสบความสำเร็จ ให้แจ้งให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานการอุดมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.กิติพงค์ กล่าว