สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 83 (The 83rd Meeting of ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation: COSTI-83) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายน 2566 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดย Ministry of Transport and Infocommunications ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation: BAC) ครั้งที่ 14 และ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 83 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมหารือ รายงานข้อมูลสถานะการดำเนินกิจกรรม/โครงการของประเทศไทย ติดตามการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน และแลกเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับประเทศอื่น ๆ
ดร.กิติพงค์ ได้ร่วมอภิปราย ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการทำงานของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Committee on Science, Technology and Innovation: COSTI) เช่น การประเมินบทบาทและอำนาจของ BAC การใช้ประโยชน์และการประเมินผลกระทบของกองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Science, Technology and Innovation Fund: ASTIF) รวมถึงการให้ความเห็นต่อโครงการความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ COSTI
ในส่วนของการประเมินบทบาทและอำนาจของ BAC นั้น ดร.กิติพงค์ ได้ให้ความเห็นว่า BAC ของแต่ละประเทศควรมีการหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) เพื่อรับข้อมูลเชิงลึกในประเด็นที่ภาคเอกชนสนใจและสอดคล้องกับ BAC ทั้งนี้ ผู้แทนใน ASEAN-BAC เป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน ในขณะที่ผู้แทนใน BAC เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทั้งสองส่วนควรทำงานร่วมกัน โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ประโยชน์ของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากภาคเอกชนสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วยกำหนดประเด็นสำคัญ กลยุทธ์ และการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี รวมถึงช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน BAC อาจเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน และเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและแนวทางปฏิบัติในระดับโลกได้มากขึ้น