messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ยกมาตรการภาครัฐ สร้างระบบนิเวศ ปลดล็อกข้อจำกัดกฎหมาย เอื้อ สถาบันวิจัย – มหาวิทยาลัย เชื่อมเอกชน กระตุ้­­­นเพิ่มลงทุน R&D สู่เป้าหมาย 2% ในปี 2570

สอวช. ยกมาตรการภาครัฐ สร้างระบบนิเวศ ปลดล็อกข้อจำกัดกฎหมาย เอื้อ สถาบันวิจัย – มหาวิทยาลัย เชื่อมเอกชน กระตุ้­­­นเพิ่มลงทุน R&D สู่เป้าหมาย 2% ในปี 2570

วันที่เผยแพร่ 23 มิถุนายน 2023 640 Views

ตามที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การสำรวจค่าใช้ด้านการวิจัยและพัฒนาเกิดการชะลอตัวลงเล็กน้อย พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) ของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.21 (จากเดิม 1.33) โดยมีค่าใช้จ่าย R&D ในภาพรวมอยู่ที่ 195,570 ล้านบาท (จากเดิม 208,010 ล้านบาท) มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 5.98 เป็นค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชน 144,887 ล้านบาท (จากเดิม 141,706 ล้านบาท) และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล, อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) 50,683 ล้านบาท (จากเดิม 66,304 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 74 : 26 ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนด้าน R&D ในภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ตัวเลข R&D ได้มีการนำไปใช้อ้างอิงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น การจัดอันดับขีดความสามารถของ IMD รวมถึงการตั้งกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การวางนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนของประเทศก็ใช้ตัวเลขดังกล่าว สำหรับผลสำรวจ จะเห็นได้ว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี โดยภาคเอกชนมีสัดส่วนการลงทุน R&D สูงกว่าภาครัฐ เนื่องจากภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ ในขณะที่ภาครัฐก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ กระตุ้นให้การลงทุน R&D เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 2% ภายในปี 2570

ดร.สิริพร กล่าวถึงบทบาทภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้การลงทุน R&D เป็นไปตามเป้าหมายว่า ภาครัฐได้สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ โดยการปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 เพื่อเชื่อมโยงให้งานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยมอบความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปยังผู้รับทุนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้นภายใน 2 ปี หากไม่มีการดำเนินการใด สิทธิของงานวิจัยฯ จะเป็นของผู้ให้ทุน การสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Holding company ในมหาวิทยาลัย อีกส่วนคือการพัฒนากลไกตลาดนวัตกรรม เช่น บัญชีนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้าง Innovation manager เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการนวัตกรรม ในการนำผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอด และเข้าสู่ตลาด

ดร.สิริพร กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการเสนอร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเฉพาะเรื่องของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ต่อ ครม.เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยใช้เป็นแนวทางในการร่วมลงทุนทั้งในลักษณะของการร่วมทุนและการจัดตั้ง Holding Company นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย Offset ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สอวช. เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ ให้ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับผู้รับซึ่งจะเป็นภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัย ขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นดำเนินการ โดยเป้าหมายสุดท้ายคือ อยากให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยโรงงานต้นแบบ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค และแต่ละจุดก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต่างกัน สำหรับเรื่องการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม มีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 15,000 – 20,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานให้ทุน 9 หน่วย ซึ่งได้มีการออกระเบียบให้สามารถให้ทุนกับภาคเอกชนได้

รอง ผอ.สอวช. กล่าวด้วยว่า สำหรับการพัฒนากำลังคน มีมาตรการ Thailand plus package ที่ให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทสามารถนำเงินเดือนพนักงานที่มีทักษะสูงด้าน STEM มาหักภาษีได้อย่างน้อย 150% และให้สิทธิกับบริษัทที่เข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้าน STEM สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการอบรมไปยกเว้นภาษีได้ 250% นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมข้อมูลบุคลากรที่มีความสามารถสูงของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมของเอกชน

“จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่า การที่เราสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมและกลไกในลักษณะนี้ คาดหวังว่า จะช่วยยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมและกระตุ้นการลงทุน R&D ของเอกชน ซึ่งในปีถัดไป คงจะเห็นตัวเลขค่าใช้จ่าย R&D ของเอกชนเพิ่มสูงขึ้นอีก” ดร.สิริพร กล่าว

Tags: #GDP #R&D

เรื่องล่าสุด