messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เข้าร่วมการประชุม “AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific Summit”

สอวช. เข้าร่วมการประชุม “AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific Summit”

วันที่เผยแพร่ 24 กรกฎาคม 2023 682 Views

เมื่อวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2566 ดร.สุนทรี นามลิวัลย์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เป็นผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยนางสาวปัญจพร ฉัตรสุวรรณ ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางเข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific Summit” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University: ANU) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (The Association of Pacific Rim Universities: APRU) และพันธมิตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย

การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีพบหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมดำเนินโครงการ
AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific ทั้งจากทีมวิจัยและพันธมิตรภาครัฐ แบ่งปันผลการวิจัยที่ดำเนินการ ตลอดจนหารือเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินความร่วมมือ

ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นต่องานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ซึ่งนำเสนอโดยนักวิจัยหลักที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 4 ทีม ได้แก่ ทีมของประเทศไทย จำนวน 2 ทีมในหัวข้อ 1. “Responsible Data Sharing, AI Innovation and Sandbox Development: Recommendations for Digital Health Governance in Thailand” และ 2. “Raising Awareness of the Importance of Data Sharing and Exchange to Advance Poverty Alleviation in Thailand” และทีมของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จำนวน 2 ทีมในหัวข้อ 1. “Mobilizing AI for Maternal Health in Bangladesh” และ 2. “AI in Pregnancy Monitoring: Technical Challenges for Bangladesh”  โดยฝ่ายไทยมีหัวหน้าโครงการวิจัย ได้แก่ ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. และ ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล โดยเป็นผู้แทนหลักพิจารณาและให้ความเห็นต่องานวิจัย หัวข้อ Responsible Data Sharing, AI Innovation and Sandbox Development: Recommendations for Digital Health Governance in Thailand และ Raising Awareness of the Importance of Data Sharing and Exchange to Advance Poverty Alleviation in Thailand ตามลำดับ และได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานเพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งสองฉบับร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ดร.สุนทรี นามลิวัลย์ ผู้แทน สอวช. ได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่ที่ประชุมซึ่งมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) ข้อปฏิบัติและตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศที่พัฒนาแล้วในการเก็บ รวบรวม ใช้และเปิดเผยข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุข และนางสาวปัญจพร ฉัตรสุวรรณ ผู้แทนเนคเทค สวทช. ได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานและการปฏิบัติของ PDPA ของไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยมีนัยสำคัญต่อกระบวนการเก็บ รวบรวม ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยระบบ Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based Policy)

ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในโอกาสนี้ ดร.สุนทรี นามลิวัลย์ ผู้แทน สอวช. ได้ร่วมอภิปรายและเสนอข้อคิดเห็นใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ความจำเป็นในการพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงของการบริหารจัดการภาครัฐในการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ (Public Good) รวมถึงการจัดการกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน 2. ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยเฉพาะ AI และ Big Data รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของบริการสาธารณะรวมถึงในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ โดยควรคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างของแต่ละประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับระดับการพัฒนา ความสามารถในการเปิดรับและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ และการสนับสนุนที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังและการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริการและสินค้าสาธารณะทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตามที่กำหนด (Quantity and Quality) และ 3. ธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการสาธารณะที่ดี และการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ethics of Science, Technology and Innovation) ซึ่งควรดำเนินควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Harnessing Science, Technology and Innovation) ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ผู้แทน สอวช. และผู้แทนเนคเทค สวทช. พร้อมด้วยทีมนักวิจัยโครงการของไทย ได้ใช้โอกาสการเดินทางเข้าร่วมประชุมในการเข้าพบคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และการสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยโครงการ Humanising Machine Intelligence (HMI) Research Project ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และเครือข่าย Global Research Network พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์การดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสังคม

อนึ่ง โครงการ AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Government Frameworks in Asia and the Pacific เป็นความร่วมมือระหว่าง UNESCAP และพันธมิตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดย UNESCAP และ APRU ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Google.org ได้พัฒนาเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเครือข่ายสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย เพื่อการพัฒนางานวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถและกรอบการกำกับดูแลที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคม

ขอขอบคุณภาพประกอบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

Tags: #AI

เรื่องล่าสุด