messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สจล. เผยโฉม “รถไฟไทยทำ” หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยทุนสนับสนุนจาก บพข. เตรียมส่งมอบเพื่อใช้ในกิจการของ รฟท. กันยายนนี้

สจล. เผยโฉม “รถไฟไทยทำ” หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยทุนสนับสนุนจาก บพข. เตรียมส่งมอบเพื่อใช้ในกิจการของ รฟท. กันยายนนี้

วันที่เผยแพร่ 30 กรกฎาคม 2023 757 Views

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดผลงานพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ในชื่อรถไฟ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” โมเดลรถไฟโดยสารต้นแบบสุดหรูหรา ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินชั้นประหยัดและรถยนต์ส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก รองรับนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคมและนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวรถไฟ (Rolling Stock) จัดเป็นแก่นของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของระบบราง จากการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องเร่งกระบวนการสร้างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีความพร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) และ การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ (Technology Localization) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทย

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เผยถึงจุดเด่นของรถไฟว่า “โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ร่วมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยตั้งเป้าต้องดำเนินการโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 40% ตามนโยบาย Thai First ของรัฐบาล ซึ่งโครงการนี้เราสามารถสร้างรถไฟโดยสารต้นแบบพร้อมอุปกรณ์ที่มี local content คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมี local content สูงกว่า 70% ซึ่งเราได้ออกแบบตัวรถเองทั้งหมดโดยได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง ในตัวต้นแบบนี้เราได้ทำที่นั่งจำนวน 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ โดยราคาค่าโดยสารนั้นคาดว่าจะใกล้เคียงกับตั๋วแบบนอนของ รฟท. การพัฒนาต้นแบบในครั้งนี้เราได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และบริษัทกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งผลงานที่ออกมานั้นมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเราได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวนกว่า 7 ผลงาน และโครงการของเรายังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต”

ด้าน รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. กล่าวถึงบทบาทของ บพข. ในการสนับสนุนโครงการนี้ว่า “โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนโดยที่มีภาคเอกชนร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้วย เป็นการยืนยันว่าภาคเอกชนต้องการทำโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงและเป็นโครงการที่ บพข. คาดหวังให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยรอให้ประเทศเรามีรถไฟที่ทันสมัยแบบนี้มานาน ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากมักกลัวการทำ R&D เพราะต้องใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยง ดังนั้น บพข. จึงต้องเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำ R&D โดยมีการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ R&D คือสิ่งสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและประเทศของเรา ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเขาสามารถทำได้ ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น แต่ว่าเอกชนไทยทุกวันนี้ยังขาดโอกาส ขาดการสนับสนุน บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐจึงเข้ามาช่วยในส่วนนี้ คณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญใน บพข. เรามีความเข้มงวดในการพิจารณาโครงการ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามานั้นมีผลกระทบ กับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นหน้าที่หลักของ บพข.  และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว เราได้ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยอย่างจริงจัง เราคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา และแนะนำ ไม่ใช่เพียงสนับสนุนทุนวิจัยแล้วก็คอยดูผลลัพธ์ที่จะออกมา แต่ต้องทำงานเหมือนเป็นทีมเดียวกัน จึงเป็นผลให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้”

นายเมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ได้เผยถึงเหตุผลที่ร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในโครงการนี้ว่า “โครงการนี้เป็นการตอบคำถามอย่างเป็นที่ประจักษ์ว่าเราทำได้จริง และเชื่อว่าไม่ใช่แค่ไซโนเจน-ปิ่นเพชรที่ทำได้ ประเทศเรามีอีกหลายบริษัท ทั้งที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าไซโนเจน-ปิ่นเพชร แต่มีศักยภาพ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาร่วมโครงการนี้คือการที่รัฐบาลได้ลงทุนกับระบบรางกว่าแสนล้านบาท ทำให้มีความต้องการรถไฟเพิ่มขึ้น แต่ว่าเราต้องซื้อตัวรถเข้ามาจากต่างประเทศเนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเองได้ ทำให้สุดท้ายก็จะกลายเป็นต่างชาติขายได้อย่างเดียว ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเสียโอกาสในส่วนนี้ไปหากไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นทางไซโนเจน-ปิ่นเพชรกับทีมวิจัยจาก สจล. จึงร่วมมือกันทำโครงการนี้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจาก รฟท. เขาได้เห็นว่ามีทั้งนักวิจัยที่เก่ง ๆ มีทั้งอาจารย์เก่ง ๆ ในประเทศเราที่มาร่วมมือกันและได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ ทั้งยังผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งความปลอดภัยนั้นเป็นหัวใจหลักของรถโดยสาร สิ่งที่เราได้จากโครงการนี้คือเราได้มีโอกาสลองทำและทำได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ลูกค้าที่ทำงานโดยใช้ระบบรางได้เห็นว่ามีผู้ประกอบการไทยสามารถทำเรื่องนี้ได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติราคาแพง ๆ ซึ่งกว่าจะจบโปรเจคก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในส่วนนี้ แต่เรามีคนไทยที่ทำได้ และเราจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเอง ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย สามารถสร้างรถจักรเองได้แล้ว แต่ประเทศไทยเรายังต้องซื้อจากต่างประเทศอยู่ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนตัวมองว่าการซื้อเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ยังมีค่าอะไหล่ ค่าซ่อมบำรุงตามมาอีก เราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และโครงการนี้เราได้ร่วมกันกับทีมวิจัยสร้างทุกชิ้นของตัวรถไฟ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องซ่อมเองได้ ถ้าเราทำเองเราจะได้เพิ่มพูนองค์ความรู้และองค์ความรู้นั้นก็จะอยู่กับเรา เราสามารถที่จะซ่อมบำรุงเองได้ ซึ่งแน่นอนกว่างบประมาณส่วนนี้ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน และโครงการนี้ก็ได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการแบบเราได้อย่างมากมาย”

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เผยถึงแผนการนำรถไฟต้นแบบไปใช้งานจริงในกิจการของ รฟท. ว่า “รฟท. ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ต้น เราเห็นตั้งแต่โครงสร้างแรก และเรื่องของความปลอดภัยในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญ โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้เราอยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริงสำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้ ในส่วนของแผนการเดินรถในอนาคตอาจต้องมีการทำแผนการจัดจำนวนที่นั่งและการจัดรูปแบบก่อนว่าจะเป็นอย่างไร โครงการนี้เป็นต้นแบบซึ่งทาง รฟท. และทีมวิจัยมีความคาดหวังที่จะลองหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้รู้ว่าวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารระยะกลาง หรือผู้โดยสารระยะไกล โดยเราอาจนำไปลองกับผู้โดยสารระยะกลางก่อน สังเกตุว่ารถที่เราออกแบบมาจะเป็นกึ่งรถนอน คือเป็นรถที่มีที่นั่งสบาย ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับรางคู่ระยะกลางที่มีระยะทางประมาณ 500 กม. เราต้องการทำรถไฟให้สามารถแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถนำรายได้นั้นไปพัฒนารถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่น ๆ มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น นอกจากนี้จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบเนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ ซึ่งเป็น concept ที่ รฟท. ใช้อยู่ จึงสามารถนำต้นแบบนี้ไปปรับใช้ได้ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถใช้ local content ภายในประเทศได้มากยิ่งขึ้น”

ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการร่วมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. สอวช. กล่าวทิ้งท้าย ว่านักวิจัยของไทยมีความคิดสร้างสรรค์ มีเป้าหมายใหญ่ และมีความสามารถสูงมาก ภาคเอกชนไทยของเรามีศักยภาพสูงมานานแล้วเพียงแต่รอจังหวะเวลาที่จะได้แสดงฝีมือ ซึ่งหากได้รับโอกาสก็จะสามารถทำสิ่งที่สำคัญและไม่เคยทำได้มาก่อนให้กลายเป็นความจริงได้ ซึ่งเราจะได้เห็นโครงการขนาดใหญ่ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นด้วยตัวเองที่มีความเป็นไปได้ทางการตลาดในลักษณะนี้สำเร็จออกมามากขึ้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จเกิดจากทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเป็นทีม คอนซอร์เตียม ระหว่าง หน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานสนับสนุนการให้ทุน สถาบันการศึกษาและวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่จะนำไปใช้ทดสอบการใช้งานจริง และมีความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งกว่าจะสำเร็จออกมาได้ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในหลายมิติและใช้เวลาในการยกระดับและยังต้องการการสนับสนุนอีกมากอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟ และผลิตรถไฟทั้งขบวนได้เองเพื่อใช้งานจริงจำนวนมากในอนาคต โดยภาคเอกชนไทยและคนไทยจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงขึ้น และประเทศไทยจะสามารถกลับมาเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคได้อย่างแน่นอน

การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการของ “การพึ่งพาตนเอง” ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ของหน่วยบริหารและจัดการด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคมร่วมสนับสนุนข้อมูล การทดสอบ และเป็นผู้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป ความสำเร็จของโครงการนี้คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทย ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้งาน และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล

Tags:

เรื่องล่าสุด