messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สสว. ร่วมกับ สอวช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดสัมมนาฯ “หลักสูตร BIO-CIRCULAR-GREEN เศรษฐกิจใหม่ ใกล้ตัว” สำหรับผู้ประกอบการ MSME พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สสว. ร่วมกับ สอวช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดสัมมนาฯ “หลักสูตร BIO-CIRCULAR-GREEN เศรษฐกิจใหม่ ใกล้ตัว” สำหรับผู้ประกอบการ MSME พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่เผยแพร่ 17 สิงหาคม 2023 745 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และเครือข่ายร่วมดำเนินการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดงานสัมมนาเชิงลึกหลักสูตร BIO-CIRCULAR-GREEN เศรษฐกิจใหม่ ใกล้ตัว ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาฯ ครั้งที่ 15 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คนจาก 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บึงกาฬ นครพนม หนองคาย และสกลนคร ภายในงาน ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา และ ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ ที่ปรึกษา สอวช. กล่าวเปิดงานสัมมนา

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการ MSME และยกระดับนักพัฒนา BCG ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้การปรับธุรกิจสู่แนวคิด BCG ด้วย “หลักสูตร BIO-CIRCULAR-GREEN เศรษฐกิจใหม่ ใกล้ตัว” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน BCG ได้แก่ คุณสุนทรี เจตนานุเคราะห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ สสว.  นางปารณีย์ ลิมปะธราสิทธิ์ ผู้จัดการศูนย์กลุ่มให้บริการ SME ครบวงจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. นายสุวิจักขณ์ อิ่มสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาอุดรธานี ดร.เบญจพร สุรารักษ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนางสาวศิริพร วิริยะตั้งสกุล ผู้จัดการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการมีการจัดกิจกรรมทั้งแบบ On-site และ Online ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2566  ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค  ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหมด 15 รุ่น  โดยมีผู้ประกอบการและนักพัฒนา BCG ผ่านกิจกรรมสัมมนาดังกล่าวทั้งสิ้นรวมกว่า 1,000 ราย ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเรียนรู้เชิงลึกของการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่แนวคิด BCG สำหรับผู้ประกอบการกลุ่ม MSME รวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัด BCG Indicator ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยเชิงระบบ การเผยแพร่ผลการศึกษา และระดมความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) โดย ผศ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยในการออกแบบและพัฒนาตัวชี้วัด BCG Indicator เหล่านี้ โดยการพัฒนาตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ BCG จะช่วยให้ MSME สามารถพัฒนาธุรกิจบนแนวคิด BCG ได้ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจาก สสว. และจากภาครัฐ และมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน สร้างโอกาสทางการค้าและก้าวข้ามมาตรการกีดกันทางการค้า หรือ Trade Barriers ในตลาดโลกได้ต่อไป

Tags: #BCG #MSME

เรื่องล่าสุด