messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมศึกษาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ เพิ่มโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอวช. ร่วมศึกษาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ เพิ่มโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

วันที่เผยแพร่ 30 สิงหาคม 2023 377 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยีสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในโอกาสที่วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญ ดร.กิติพงค์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการอำนวยการประจำวิทยาลัยฯ เดินทางพร้อมคณะเพื่อพบปะหารือจับคู่ความร่วมมือ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 20 – 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเยี่ยมชมศึกษาดูงานและทัศนศึกษา การบริหารการจัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัย และองค์กรต่าง ๆ อาทิ Korea National University of Arts, Chung-Ang University, Sejong University, Webtoon Academy และ KOFA (Korean Federation of Film Archives) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ และการนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

โดยสาธารณรัฐเกาหลีถือว่าเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งหนึ่งของโลก การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้มีความเข้าใจแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและบูรณาการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศ จึงต้องศึกษาข้อมูลสำหรับการพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องตามบริบทของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง CAMT และ Sejong University โดยมีประเด็นสำคัญคือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนักศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานในระดับสากลของนักศึกษาไทย

สอวช. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ CAMT ในการพัฒนาองค์ความรู้ การผลิตบัณฑิต การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงได้เชิญ CAMT เป็นศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) หรือ STEM OSS ในสาขาความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยมุ่งหวังว่าการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าว จะนำไปสู่การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย เป็น Soft Power ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป

เรื่องล่าสุด