messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกความร่วมมือ ก.พ.ร. – SCG ระดมความเห็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก เชื่อมโยงการขับเคลื่อนด้านนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกความร่วมมือ ก.พ.ร. – SCG ระดมความเห็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก เชื่อมโยงการขับเคลื่อนด้านนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

วันที่เผยแพร่ 22 กันยายน 2023 568 Views

(20 กันยายน 2566) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “NDC Accelerator รวมพลัง เร่งขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” เพื่อผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน ณ Hall 1 อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมกล่าวเปิดงาน

ในช่วงการกล่าวเปิดงานฯ ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่าเป็นงานที่ได้เห็นการรวมตัวกันของหลายหน่วยงานที่ต่างเห็นความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการขับเคลื่อนต่าง ๆ เริ่มมีความชัดเจนโดยเฉพาะการเดินหน้าการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ที่ขับเคลื่อนเรื่องการตรวจสอบคาร์บอน (Carbon Verification) สำนักงาน ก.พ.ร. ที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะความเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนงานร่วมกันในโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างมาก ตั้งแต่การสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่ม SME มีหลักสูตรเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดซื้อขายพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ในส่วนของการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อผลักดันการแข่งขันของภาคเอกชน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่องและมีความพยายามพัฒนาระบบการให้ทุนกับภาคเอกชนโดยตรง ผ่านกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่ขาดไม่ได้คือภาคเอกชน เช่น SCG และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association: TCMA) ที่ถือเป็นผู้นำในการรวมพลังของภาคเอกชน ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยจะร่วมมือกับภาครัฐพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมาย ทั้งยังคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลกได้

ในส่วนของการขับเคลื่อนงานด้านอุดมศึกษานั้น สอวช. ได้พยายามทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยผ่านการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อริเริ่มการดำเนินงาน Green campus เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ศึกษาและประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการสร้างระบบการเก็บข้อมูล การศึกษาปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังทำการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน เช่น Solar roof อย่างจริงจังในทุกอาคารของมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าสามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 20% ซึ่งหากภาครัฐสามารถขยายผลกรณีศึกษานี้ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล หรือโรงเรียน จะสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศเข้าใกล้เป้าหมายการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไวยิ่งขึ้น ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “การใช้คำว่า Accelerator เป็นชื่อหัวข้อการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นคำที่ใช้อธิบายรูปแบบในทางปฏิบัติได้ดี เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อน และคาดหวังว่าข้อสรุปที่ได้จากการระดมความเห็นครั้งนี้จะถูกนำไปปฏิบัติให้เห็นผลจริงได้ต่อไป”

สำหรับรูปแบบกิจกรรมภายในงานนั้นได้จัดให้มีการแบ่งกลุ่มย่อยรับฟังประเด็นปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความสามารถในการแก้ไขและจัดการ โดยการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดกลุ่มประเด็นต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กลุ่มที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และกลุ่มที่ 3 กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) โดยทีม สอวช. ได้มีส่วนร่วมในการเป็นกระบวนกรของเวทีรับฟังข้อคิดเห็นฯ ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน และกลุ่มที่ 3 กลไกราคาคาร์บอน

โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังมีเวทีเสวนาสรุปข้อเสนอแนะเพื่อเร่งขับเคลื่อน NDC โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และนายนที สิทธิประศาสน์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Nationally Determined Contributions: NDCs ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐสู่การปฏิบัติเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ข้อสรุปที่ได้จะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023: Accelerating Changes Towards Low Carbon Society ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 นี้ต่อไป

เรื่องล่าสุด