สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสือปืนไว เสนอโครงการ “1,000 นวัตกรรมแก้จน” ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมประสานเครือข่ายทั่วประเทศ ดึงนักขับเคลื่อนชุมชนพันคน หนุนงบพันล้าน ดึงลูกหลานคืนถิ่น เพื่อเกษตรยั่งยืน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า นโยบายแก้จน คือหนึ่งในมิติสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยการสร้างอาชีพ ยกระดับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของชุมชน มุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ การวิจัยและเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ สนับสนุนด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างแบรนด์และเรื่องราวของผลิตภัณฑ์
ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า สอวช. จึงขอนำเสนอ โครงการ 1,000 นวัตกรรมแก้จน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยต่อยอดความคิดมาจาก BCG Model ที่รัฐบาลที่แล้วต้องการให้มีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดย B ก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ C ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว ทั้ง 3 เรื่องนั้น สอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และดูแลโลกของเราในทุกมิติ นอกจากนี้ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้โครงการ 1,000 นวัตกรรมแก้จน ไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ถึงเศรษฐกิจฐานราก ด้วยงบประมาณที่จะดำเนินการ 3,000 ล้านบาท ครอบคลุม 3 ปี
“เรามีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 12 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 19 แห่ง ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่ง และศูนย์ประสานงาน วท.ภาคตะวันออก ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 4 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายพันธมิตรในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาด้าน วทน. ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสถาบันวิจัยอีก 10 แห่ง ซึ่งจากขุมกำลังที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เมื่อผนวกเข้ากับนักขับเคลื่อนชุมชนที่คัดเลือกมาเป็นตัวแทน 1,000 คน และนโยบายการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จากโครงการ ตลอดจนการขึ้นบัญชีนวัตกรรมของรัฐแล้ว เชื่อว่าจะทำให้การแก้ปัญหาความยากจนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ลูกหลานจะคืนสู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจฐานรากจะมีความมั่นคงและยั่งยืน” ผอ. สอวช. กล่าว