(12 ตุลาคม 2566) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรกระทรวง อว. เข้าเยี่ยมชมและรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ สอวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และคณะผู้บริหาร สอวช. รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เข้าร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลถึงแนวทางการดำเนินงาน
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึง กรอบแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน-ระยะกลาง แบ่งเป็น 4 กรอบแนวทาง ได้แก่ 1) การบ่มเพาะ พัฒนาทักษะ ให้คำปรึกษา กับกลุ่ม SME รวมถึงผู้ประกอบการในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 2) การใช้โมเดลและแพลตฟอร์มแก้จน (ข้อมูลกระบวนการทางสังคม นวัตกรรม เทคโนโลยี) ในการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นและครัวเรือน 3) การส่งเสริมพื้นที่สีเขียว ผ่านการใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม ปรับโครงสร้างพลังงาน (Green Campus – Solar Rooftop/Smart Energy System) รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเมืองที่เป็นพื้นที่นำร่อง (เขตนวัตกรรม Net Zero Emission) และ 4) การพัฒนาคน 3 ช่วงวัย ผ่านการสนับสนุนให้เกิดมหาวิทยาลัย 1 Sandbox การ Reskill/Upskill แรงงานทักษะสูง และการจัดนิทรรศการ 1 ภูมิภาค
สำหรับเป้าหมายในระยะยาว คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมของประเทศ ซึ่งมีแผนปฏิบัติการแบบ Quick Win เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศคือ มีระบบสนับสนุนผู้ประกอบการครบวงจร เพื่อให้ธุรกิจโตจำนวน 3,000 ราย สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร 1,000 ราย มี Virtual Production Lab ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ 10 แห่ง มีผู้ประกอบการสร้างสรรค์มากกว่า 3,000 ราย และมี Thai Content Platform 4 เครือข่าย/สาขา ภายในระยะเวลา 1 ปี สนับสนุนรายได้ผู้ประกอบการให้เพิ่มขึ้น 3,000 ราย มีสัดส่วนและมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร 350,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท โดยขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิตและบริการที่สำคัญของ Creative Content ในเอเชีย ภายใน 3 ปี
ด้านการกระจายโอกาสและความเจริญสู่ภูมิภาค ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้จนและสร้างอาชีพ 150,000 บาทต่อปี ภายใน 1 ปี และขยายผลไปยังพื้นที่รวม 40 จังหวัด ภายใน 3 ปี ในด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อน Green Campus ตั้งเป้าใน 1 ปี ให้มีพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมปรับโครงสร้างพลังงาน Green Campus 30 มหาวิทยาลัย ปลดล็อกการใช้พลังงานสะอาด เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด 30 เมกะวัตต์ และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้เกิดนวัตกรรมสีเขียวด้านพลังงาน เกิด Climate Tech Innovator และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ส่วนการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ตั้งเป้าใน 1 ปี ให้มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี (Circular Economy, Waste) ในพื้นที่นำร่อง 10 นวัตกรรม และมีพันธมิตรต่างประเทศสนับสนุนงบประมาณ และภายใน 3 ปี เกิดเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีระบบนิเวศเมือง Net Zero Emission ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)
ในส่วนของแผนการพัฒนาคน 3 ช่วงวัย สำหรับหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าให้มี 1 University 1 Innovation Education ให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างปี และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้มีกำลังคนทักษะสูง 100,000 คน ส่วนของแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคน ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าให้เกิด University Consortium ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) Bootcamp สร้างกำลังคนทักษะสูง 50,000 คน พัฒนาครู ผู้สอน และครูตำรวจตระเวนชายแดน 3,000 คน และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้มีกำลังคนทักษะสูง 100,000 คน พัฒนาครู ผู้สอน และครูตำรวจตระเวนชายแดน 6,000 คน ลดเด็ก Drop out ลง 50,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงและมีศักยภาพทักษะแห่งอนาคตจำนวน 50,000 คน