ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม “The 10th ADB International Skills Forum: A New Era of Digitalized and Climate Resilient Human and Social Development” ระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม 2566 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคนโยบาย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific region) มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด นโยบาย และกรณีตัวอย่างการดำเนินการด้านการจัดการศึกษา เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้จ้างงาน และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดร.กิติพงค์ ได้แลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ในหัวข้อเรื่อง การยกระดับนวัตกรรมการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิก โดยยกตัวอย่างการดำเนินการในประเทศไทย คือ 1) การนำร่องการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ร่วมกับกลุ่มสถานประกอบการ ผ่านกลไก Higher Education Sandbox เพื่อให้ผู้เรียนสามารถออกไปทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปี เพื่อให้จบหลักสูตรและได้รับปริญญาตรี โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นโมดูล (module) และให้ใบรับรอง (certificate) ตามระดับความรู้ความสามารถ ผู้เรียนสามารถนำใบรับรองไปใช้ประกอบการทำงาน และเมื่อทำงานไประยะหนึ่ง สามารถกลับเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มเติมความรู้ หรือเพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จในระดับปริญญาตรีได้ 2) โครงการแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ หรือ STEMPlus เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) ของคนวัยทำงาน พร้อมสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และการได้รับ cashback สำหรับ SME ซึ่งเป็นการออกแบบระบบการให้มาตรการจูงใจที่จำเพาะต่อความต้องการที่แตกต่างกันของภาคธุรกิจ รวมถึงได้นำเสนอโมเดลการฝึกอบรมระยะสั้นในรูปแบบ Bootcamp โดยความร่วมมือกับองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย (Generation Thailand) เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีงานทำแบบเร่งด่วนตอบโจทย์ตลาดงานด้านดิจิทัล และด้านการดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงการดำเนินงานของประเทศตนเองเช่นกัน อาทิ กลุ่มประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก มีการจัดทำ Waka Moana Learning Hub เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรในการจัดการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศไมโครนีเซีย มีการดำเนินโครงการ Skill Enhancement and Employability ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิคให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้มีทักษะสูงขึ้น ได้รับการจ้างงานในระดับรายได้ที่สูงขึ้น และช่วยลดการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ประเทศกัมพูชามีนโยบายที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา มีการจัดทำ Skill Development Roadmap เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะสูงรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเน้นการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training, TVET) ประเทศวานูอาตู มีโครงการจัดฝึกอบรมที่ครอบคลุมกลุ่มผู้หญิงและผู้พิการ รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศฟิลิปปินส์มีการจัดทำแพลตฟอร์มของประเทศเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งผู้สอนและผู้เรียน และเป็นแพลตฟอร์มที่ชาวฟิลิปปินส์ทุกคนเข้าถึงได้ ประเทศอินโดนีเซียมีการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และก้าวเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2060
จากการประชุมดังกล่าว เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในนโยบายและการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคนของประเทศต่าง ๆ ทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการจัดการศึกษา และการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีสมรรถนะสูง ตรงความต้องการของตลาดงาน สามารถขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้และนวัตกรรม และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต