เมื่อวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุม CTCN Asia and the Pacific NDE Forum 2023: System Transformation through Climate Technology Transfer ภายใต้ Asia Pacific Climate Week 2023 (APCW) ณ เมืองยะโฮร์บาห์รู (Johor Bahru) ประเทศมาเลเซีย ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) โดยศูนย์เทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ซึ่งเป็นกลไกถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nationals Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้เรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้าร่วมการประชุมเพื่อเจรจาหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ การดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และประเด็นต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุม COP28 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำปี พ.ศ. 2566
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อรับฟังโปรแกรม ขอบเขตการดำเนินงาน และแผนกลยุทธ์ในอนาคต (CTCN 3rd Programme of Work and TEC Rolling workplan 2023-2027) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้ UNFCCC (National Designated Entities (NDEs), Advisory Board (AB) and Technology Executive Committee (TEC) Members) การดำเนินงานของโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนวัตกรรมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Adaptation Fund Climate Innovation Accelerator) ในเฟสต่อไป (AFCIA Phase 2) ที่มาและแนวทางการดำเนินการของโครงการ TNA ในเฟสใหม่ (TNA Phase 5) ซึ่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Global Environment Facility (GEF 8) รวมถึงหารือแนวทางการพัฒนาโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technical Assistance: TA)
นอกจากนี้ จากกิจกรรมการประชุมดังกล่าว ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ยังได้รับเชิญให้นำเสนอและเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการดำเนินงานในฐานะ NDE และการดำเนินงานโครงการ TA ของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนที่ผ่านมา ซึ่งได้นำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน (Building and Resilient Infrastructure) กรณีศึกษาโครงการ TA ของประเทศไทย “Fostering Green Buildings in Thailand” นำเสนอและร่วมอภิปราย “Roundtable on collaborative Research Development and Demonstration (RD&D) facilitation” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและกล่าวถึงมิติด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ในหัวข้อ “International RD&D collaboration facility of Thailand” และร่วมระดมสมองเพื่อจัดลำดับความสำคัญ (Priority ideas) ของโครงการ TA เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของ NDEs ในปีต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้มีวัตุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการทำงานภายใต้ขอบเขตและกรอบแนวคิดการเปลี่ยนแปลงใน 5 ระบบสำคัญ (System Transformation) ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบน้ำ อาหาร และพลังงาน (Water-Food-Energy Nexus) อาคารและโครงสร้างพื้นฐาน (Building and Resilient Infrastructure) การเดินทางและขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Mobility) ระบบพลังงาน (Energy Systems) ธุรกิจและอุตสาหกรรม (Business and Industry) และพัฒนา 2 ปัจจัยเอื้อ (Enablers for system transformation) คือ การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (National System of Innovation) และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ (Digitalization) เพื่อการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันในอนาคตสำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินงานทั้งในด้าน Mitigation และ Adaptation ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกถ่ายทอดเทคโนโลยีของ UNFCCC