(20 พฤศจิกายน 2566) คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสโมสรโรตารี จัดสัมมนาเรื่อง การแก้ปัญหาความยากจน : วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง วาระแห่งชาติ : นโยบายแก้จนของประเทศไทย โดยกระทรวง อว. ร่วมสนับสนุนการจัดนิทรรศการและนำเสนอผลงานวิจัยในการแก้ไขปัญหาความยากจน นำโดยนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้บริหารของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ตัวอย่างผลงานที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน ที่กระทรวง อว. นำเสนอ เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท. 5 ผลงาน ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Platform : PPAP) ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ มีองค์ประกอบใน 5 ประเด็น/แนวคิดหลัก คือ การสร้างกลไกความร่วมมือ การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือ สร้างโมเดลแก้จนในมิติเรื่องคุณภาพชีวิต มิติอาชีพและเศรษฐกิจ มิติเศรษฐกิจชุมชน และการเชื่อมโยงงานวิจัยเข้าสู่แผนพัฒนาระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยผลงานโครงการ ได้แก่ 1) การบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย “โมเดลรถพุ่มพวง” จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดจากการนำเอาสินค้าในชุมชนขึ้นรถแล้วเร่ขายไปตามชุมชนต่าง ๆ เกิดปรากฏการณ์รถพุ่มพวงในชุมชน และมีการทำธุรกิจรถพุ่มพวงเป็นธุรกิจในครัวเรือน โดยผลลัพธ์ที่ได้คือรถพุ่มพวง สามารถยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจนและต่อเนื่องเฉลี่ย 13,000 บาทต่อเดือน (ในปี พ.ศ. 2566) 2) การยกระดับรายได้คนจนอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ด้วยโมเดล “อำเภอกระจูดแก้จน” เป็นการออกแบบปฏิบัติการแก้จนต่อยอดจากการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ ทำการฝึกทักษะการทำกระจูดและการพัฒนาทักษะด้านการตลาดทั้งการตลาดออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า มีการดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาทำการจัดสรรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 3) โมเดลตาลีอายร์ยั่งยืน : ระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคม ตำบลตาลีอายร์ จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย 4 โมเดลแก้จน คือ (1) Tali-Ai Care มิติสุขภาพ การศึกษา และการเสริมศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย (2) Tali-Ai Creative งานหัตถกรรม หัตถศิลป์ งานสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้หรือผ้าเก่า และงานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (3) Tali-Ai Agronomy เกษตร ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร และ (4) Tali-Ai Biz ศูนย์รวบรวมสินค้า ศูนย์แนะนำและบริการสินค้าออนไลน์ ศูนย์ขนส่ง ศูนย์พัฒนานักขายออนไลน์ และการทำตลาดสดชุมชนและร้านค้าเครือข่ายออฟไลน์ 4) ตัวแบบธุรกิจส่งเสริมเห็ดฟางครบวงจรพิชิตจนจาก “โมเดลแก้จนเห็ดฟางสร้างสุข” ครัวเรือนที่เข้าร่วมจะได้รับการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้ และลดการอพยพของแรงงาน รวมถึงครัวเรือนคนจนที่ได้รับโอกาส จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้การเพาะเห็ดซึ่งกันและกันด้วย และ 5) การพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดมุกดาหารด้วยโมเดล “หม่อนแก้จน” ครัวเรือนยากจนได้รับความรู้ความเข้าใจในการปลูกหม่อนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มรายได้จากการขายใบหม่อนสดและใบหม่อนแห้งได้