กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight: APEC CTF) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 “สนทนาสร้างอนาคต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (World Café for strategic planning)” ภายใต้โครงการการจัดทำภาพอนาคตเพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องพระวิษณุ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมทั้ง แนะนำข้อมูลและบทบาทของคณะ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำในการสร้างและให้บริการความรู้ที่ตอบสนองพลวัตของสังคมโลกอย่างยั่งยืน” ตลอดจนกล่าวถึงที่มาและความสำคัญของกระบวนการจัดทำภาพอนาคตเพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำหรับการเตรียมความพร้อม รองรับการผลิตบุคลากรทางวิศวกรรม ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการให้บริการวิชาการ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตในทุกมิติ
จากนั้น ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ Executive Director ของศูนย์ APEC CTF ได้กล่าวแนะนำภาพรวมของโครงการฯ พร้อมทั้ง นำเสนอกระบวนการของการจัดทำภาพอนาคต ที่ได้ร่วมดำเนินการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตั้งแต่ขั้นตอนของการทบทวนข้อมูลและสถานภาพของคณะ การวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ รวมถึงการค้นหาแนวโน้มและความไม่แน่นอนที่สำคัญของคณะ จนกระทั้ง นำไปสู่การจัดทำภาพอนาคต (Scenarios) ในอีก 10 ปีข้างหน้าของคณะที่ใช้เป็นกรอบสำหรับการระดมสมอง สนทนาออกแบบนโยบาย หรือ แนวทางการพัฒนาคณะที่มีความเหมาะสมกับภาพอนาคตของแต่ละฉากทัศน์ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสอนแนะที่เป็นชุดทางเลือกนโยบายเพื่อเสนอต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับภาพอนาคตต่อไป
ในช่วงของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ดร.สุจินต์ พูลบุญ นักพัฒนานโยบาย สอวช. ได้กล่าวบรรยายสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 และ 5 กันยายน 2566 ตามลำดับ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจถึงระดับเหตุปัจจัยที่เป็นอุปลักษณ์และตำนาน (Metaphors & Myths) ที่เกิดขึ้นกับคณะ จากการประยุกต์ใช้เครื่องมือ Causal Layered Analysis (CLA) ตลอดจนการชี้ประเด็นแนวโน้มที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนและส่งผลกระทบกับคณะในช่วง 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งผลการวิเคราะห์ความไม่แน่นอน (Uncertainties) ที่สำคัญต่อคณะและถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทำภาพอนาคตของคณะที่นำเสนอด้วย 4 ฉากทัศน์ (Scenarios) ตั้งแต่ฉากทัศน์ที่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจนถึงสถานการณ์ที่ดีที่สุดภายใต้ผลกระทบจากแนวโน้มและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในแต่ละฉากทัศน์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการระดมสมองร่วมกันในครั้งนี้ พร้อมด้วยการแนะนำรูปแบบของกระบวนการ World Café ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อเน้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มีส่วนร่วมสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นในประเด็นเชิงนโยบายและแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบกับคณะ ตลอดจน การลำดับความสำคัญในเบื้องต้นของแนวทางการพัฒนาที่เป็น “High Impact Quick Win” สำหรับเตรียมความพร้อมของคณะสู่อนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทำให้ได้รับประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปใช้เป็นกรอบของการจัดทำรายละเอียดข้อเสอนแนะที่เป็นชุดทางเลือกนโยบาย (Policy Options) ที่เหมาะสมและรองรับกับภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้ง 4 ฉากทัศน์ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างทาง สอวช. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อันนำไปสู่การสรุปและนำสนอประเด็นสำคัญต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายการพัฒนาของคณะอย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ในระดับสากลทุกมติ ภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน