กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงาน ASEAN-India Grassroots Innovation Forum 2023 ระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2566 ณ Langkawi International Convention Centre เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับเกียรติจากนาย Chang Lih Kang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งประเทศมาเลเซีย ร่วมกล่าวเปิดงาน
ASEAN-India Grassroots Innovation Forum 2023 เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งประเทศมาเลเซีย กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ National Innovation Foundation (NIF) แห่งสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน และงบประมาณในการเดินทางของผู้เข้าร่วมจากประเทศต่าง ๆ จากรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย กิจกรรมในงานประกอบด้วยการออกบูธนิทรรศการแสดงนวัตกรรมรากหญ้า ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของนักเรียน ชาวบ้าน และผู้คนในชุมชนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐอินเดีย การอภิปราย การประกวดแข่งขันด้านนวัตกรรม การประชุมระหว่างรัฐบาล (Government to Government: G2G) งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และการประชุมเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย (Techlympics)
ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้รับเชิญให้เป็นผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ Policy and Partnership for Inclusive Development ซึ่งเป็นการเสวนาเชิงวิชาการและเชิงนโยบายที่จัดขึ้นในงานครั้งนี้ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐอินเดียเข้าร่วมในการเสวนา
ดร.ปราณปรียา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ 1 ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 1) ในเรื่องนโยบายเพื่อยุติความยากจน โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่ สอวช. ร่วมผลักดัน 2 โครงการ ได้แก่ (1) Ecotive ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์ เพื่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสู่โมเดลพึ่งพาตนเอง ในจังหวัดปัตตานี โดย สอวช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ (2) Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) ซึ่งเป็น Policy Accelerator เพื่อสร้างกลไกพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มใหม่ (Policy Formulation) ทำให้นโยบายเกิดผล (Legitimization) และนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ดร.ปราณปรียา ยังได้กล่าวถึง ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ซึ่งเผยให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่ดีมากในการขจัดความยากจน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) จะทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว และเมืองในชนบท นโยบายเชิงสังคมที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่นและการศึกษาที่มีคุณภาพแบบครอบคลุม รวมถึงนวัตกรรมระดับรากหญ้า (Grassroots Innovation) ที่สามารถช่วยจัดการกับความท้าทายในท้องถิ่นและปิดช่องว่างการพัฒนา จึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในการประกวดแข่งขันด้านนวัตกรรมนั้น นางสาวกวินนาท พงษ์เมษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประเภท Student Innovator ด้วยผลงานการพัฒนาเส้นใยกล้วยเคลือบสารสกัดจากผิวมะกรูดเพื่อใช้เป็นผ้าอนามัย และ นายฉัตรชัย ดีสวัสดิ์ เจ้าของธุรกิจผู้ก่อตั้ง Lemon Me Farm ได้รับรางวัลที่ 2 ในการแข่งขันประเภท Grassroot Innovator จากการนำเสนอการสานต่อการทำสวนมะนาวและการแปรรูปมะนาวให้เป็นสินค้าต่าง ๆ ที่หลากหลาย
นอกจากนั้น ดร.ปราณปรียา ยังได้ร่วมการประชุม G2G เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการดำเนินกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย รวมถึงได้ให้ความเห็นต่อการจัดงาน ASEAN-India Grassroots Innovation Forum ในโอกาสต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2567 มีกำหนดจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASEAN-India Grassroots Innovation Forum 2023 ได้ที่ https://aigif2023.yim.my/