(9 มกราคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการพิเศษโครงการเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment of Thailand: BOI) จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการลงทุนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สอวช. โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทยและประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก เป็นประธานในการหารือร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วมในการหารือ แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการดำเนินงาน อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนหลายบริษัท
การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำของการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง คือ ความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา จนถึงปลายน้ำ คือ ผู้ใช้บัณฑิต หรือภาคเอกชน
นางสาวอนิณ เมฆสุกใส ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (ศปพ.) BOI ได้ให้ข้อมูลความต้องการของนักลงทุนที่ติดต่อเข้ามายัง ศปพ. ถึงความต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอร์รี่ และดิจิทัล แต่ติดเรื่องกำลังคนที่มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Semi-conductor โดยพบว่านักลงทุนเหล่านี้ต้องการข้อมูลกำลังคน รวมบัณฑิตที่มีทักษะและความพร้อม สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมที่วางแผนจะมาลงทุน ที่สอดคล้องทั้งตำแหน่งงานและทักษะที่ต้องการได้ ด้านนางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. ได้นำเสนอกลไกการดำเนินงานเพื่อการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ผ่าน โดยมี ดร.พรเพ็ญ แซ่อึ้ง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย กลุ่มยุทธศาสตร์นวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนากำลังคน ร่วมให้ข้อมูลโครงการ Semiconductor Sandbox ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในการผลิตแรงงานที่มีทักษะด้าน Semiconductor เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานในสาขานี้
ดร. สัมพันธ์ ได้กล่าวบทสรุปในช่วงท้ายของการหารือ ว่า ควรมีแหล่งแสดงผลข้อมูลทั้งผู้เชี่ยวชาญและบัณฑิตจบใหม่ในสาขาที่สำคัญ (Database of talent and graduate pools) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์นักลงทุน สุดท้ายนี้หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงความพร้อมในการให้ความร่วมมือ ในการร่วมสร้างและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์บริษัทที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้