messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. และคณะเข้าร่วมเยี่ยมชม โรงงานผลิตแบตเตอรี่ “โซเดียมไอออน” จากแร่เกลือหินแห่งแรกในประเทศไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. และคณะเข้าร่วมเยี่ยมชม โรงงานผลิตแบตเตอรี่ “โซเดียมไอออน” จากแร่เกลือหินแห่งแรกในประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 12 มกราคม 2024 574 Views

ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายปริพัตร บูรณสิน อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) และคณะเข้าร่วมเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ “โซเดียมไอออน” จากแร่เกลือหินแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่นำนาโนซิลิกอนจากแกลบและแผงโซล่าร์เซลล์ที่ใช้แล้วมาเป็นวัสดุขั้วไฟฟ้า และแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน (แบตเตอรี่เกลือ) ที่เป็นทั้งผลงานวิจัยและผลผลิตจากโรงงาน มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยให้เป็นผู้นำและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ของโลก โดยแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน เป็นหนึ่งในแบตเตอรี่ทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทย ใช้เป็นแหล่งสำรองการกักเก็บพลังงาน สามารถประยุกต์ใช้งานในด้านที่มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้และโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่น การผลิตเพื่อใช้งานภายในประเทศและส่งออกได้อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต โดยส่วนประกอบสำคัญสำหรับแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน เช่น 1. ขั้วไฟฟ้าแอโนด (Anode) และแคโทด (Cathode) 2. อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) 3. แผ่นกั้นในแบตเตอรี่ (Separator) และ 4. ตัวรับกระแส (Current collector) เป็นต้น

โดยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจะใช้วัสดุหลักที่สำคัญคือ วัสดุสารประกอบของโซเดียม ที่มีข้อเด่นเรื่องด้านราคาถูกกว่า ลิเทียม เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่หาได้ภายในประเทศและมีจำนวนมาก ชาร์จได้เร็วกว่า มีความเสถียรมากกว่า มีความปลอดภัยมากกว่า ใช้ได้กับทุกอุณภูมิบนโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีข้อเสีย คือเมื่อเทียบขนาดต่อความจุแล้วมีน้ำหนักมากกว่าแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน เมื่อเทียบข้อดีข้อเสียแล้วพบว่า สามารถเลือกใช้งานในลักษณะการใช้งานที่เหมาะสม ที่ไม่มีข้อจำกัดด้านน้ำหนักและขนาดของแบตเตอรี่ เช่น Renewable Energy,  Data center, และสถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ยังมีความท้าทายและข้อจำกัด ทั้งในเรื่องทางเทคนิค ได้แก่ การพัฒนาความหนาแน่นพลังงาน (Energy Density) การควบคุมช่วงของศักย์ไฟฟ้าในการใช้งาน และเรื่องของการพัฒนาบุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนประสบการณ์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่สามารถออกแบบและทำการวิจัยพัฒนาและลงมือปฏิบัติได้อย่างปลอดภัย

ด้วยวิสัยทัศน์ของการเป็นอาจารย์และนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ได้ตระหนักถึงปัญหาคอขวดดังกล่าว หลายปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดการเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาแล้วกว่า 1 ปี โดยหลักสูตรเน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการทั้งในด้านวัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยหลักสูตรจะสามารถผลิตบุคลากรได้รุ่นละ 40 คน และคาดหวังว่านักศึกษาที่จบออกมาจะมีส่วนในการสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ได้

นอกจากนี้ เนื่องจากความต้องการการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ของโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรง ภาคการศึกษาและวิจัยของไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในอีกหลายมิติ เช่น ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำวิจัยและการขยายผล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรจากต่างประเทศ มาตรการสนับสนุนทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อส่งเสริมด้านการทำวิจัยและพัฒนา การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการสร้างระบบนิเวศให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทย จึงเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาความสำคัญเร่งด่วนในการออกมาตรการสนับสนุนที่จำเป็น ในการขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อให้ประเทศไทยสามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน

เรื่องล่าสุด