messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “อว.” จับมือ “กรุงเทพมหานคร” เตรียมจัดงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาเมือง เพิ่มทักษะใช้เทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายผลสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“อว.” จับมือ “กรุงเทพมหานคร” เตรียมจัดงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาเมือง เพิ่มทักษะใช้เทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายผลสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 29 มกราคม 2024 461 Views

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอํานวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. โยธี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยในการประชุมมีวาระเสวนาในประเด็นข้อเสนอการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเชิงนโยบายและการสนับสนุนทุนไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่ประธานเป็นการประชุม กอวช. ก็ได้เร่งให้มีการประชุมโดยเร็ว เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของงานที่จะต้องขับเคลื่อนต่อ โดยเฉพาะใน 4 หน่วยงานหลัก ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวง อว. ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนอีก 3 แห่ง คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่มีบทบาทสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนภารกิจและงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันภาคธุรกิจ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาคนกำลังคนทักษะสูง รวมถึงการวิจัยขั้นแนวหน้า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ แต่ละท่านก็ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ 

“ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่นายกรัฐมนตรีลงมากำกับดูแลสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้วยตัวเอง เนื่องจากท่านให้ความสำคัญมากเรื่องของนโยบายที่จะขับเคลื่อนด้าน อววน. ของประเทศ” นางสาวศุภมาส กล่าว 

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของ สอวช. ประจำปี 2566 ใน 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1.ยกระดับประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี 2580 โดยเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม 2.ยกสถานะทางสังคมของประชากรในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ 3.การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตัน ขณะนี้ได้มีการนำร่องโครงการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และจังหวัดสระบุรี ขับเคลื่อนสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย 50 แห่ง ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว 4.ยกระดับทักษะพัฒนากำลังคน สมรรถนะสูงโดยตั้งเป้า 25% ของแรงงานทั้งหมด โดยปี 2567 ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมให้ได้ 100,000 คน จาก 700 หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนพลิกโฉมมหาวิทยาลัยผ่านโครงการ Higher Education Sandbox ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการศึกษา ที่ผลิตหลักสูตรขึ้นมาใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

ด้าน ดร.สิรพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอแนวทางการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” โดยกล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการ อว. และหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ตลอดจนสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สอวช. บพท. กทม. และเครือข่ายหน่วยบริหารและจัดการทุน สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมงานได้แก่ บุคลากรจาก กทม. เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยงานจะจัดขึ้น ในวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ดร.สิริพร กล่าวด้วยว่า จากการหารือร่วมกับ กทม. พบว่า กทม. เองต้องการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อตอบโจทย์สอดคล้องไปกับตัวชี้วัดของ กทม. ทั้ง 9 ด้าน อาทิ เศรษฐกิจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี เดินทางดี ฯลฯ ขณะเดียวกันยังได้สรุปปัญหาสำคัญของเมืองและชุมชนได้ 3 ประเด็นหลักคือ 1.การศึกษาการเรียนรู้ 2.เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และ 3. การจัดการเมือง เช่น การคมนาคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ดังนั้นเพื่อให้การจัดงานครอบคลุมประเด็นปัญหาเหล่านี้ เราจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะแบ่งพื้นที่จัดงานออกเป็น 3 พื้นที่ คือ 1.นวัตกรรมการเรียนรู้ 2. เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด และ 3. เป็นเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน ซึ่งทั้ง 3 วันของการจัดงานจะมีการเสวนา โดยมีวิทยากร 57 คน จาก 22 หน่วยงาน สลับสับเปลี่ยนมาให้ความรู้ แสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว City Lab และ มีสภาเด็กและเยาวชนมาให้ความเห็นว่า อยากเห็นเมืองเป็นอย่างไรในอนาคตด้วย

รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวด้วยว่า สอวช. สกสว. และ บพท. ยังเห็นความสำคัญและโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเชิงนโยบายและการสนับสนุนทุน ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสามารถในการรับมือ ปรับตัว และฟื้นตัวจากวิกฤตต่าง ๆ ได้

เรื่องล่าสุด