เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบาย) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย (มท.) รองประธานคนที่หนึ่ง และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายด้านการอุดมศึกษา ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ปรับปรุงหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย มีมาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่และเทคโนโลยีใหม่ 2. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ให้เหมาะกับบริบท ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 3. สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคการผลิต และมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ 4. บริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Put the right man on the right job) โดยอาจารย์ที่สอนเก่งให้เน้นทำหน้าที่สอน อาจารย์ท่านไหนที่ทำวิจัยเก่งให้เน้นการทำวิจัย 5. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย เพื่อให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูงต่าง ๆ
ขณะที่ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย โดยเน้นประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 4 ด้าน ได้แก่ 1. สนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างนวัตกรรม สร้างอุตสาหกรรมใหม่ 2. กำหนดสัดส่วนการลงทุน ววน. ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งที่เป็นส่วนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) หรือ งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยขอให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แต่ไม่ปิดกั้นโอกาสให้นักวิจัยค้นพบเรื่องใหม่ ๆ 3. ส่งเสริมสตาร์ทอัพโดยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและสนับสนุนกลไก Matching Fund และ 4. พัฒนาคน พัฒนานักวิจัย ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม
รมว.อว. กล่าวต่อว่าเป้าหมายของการนำ อววน. สนับสนุนนโยบายรัฐบาล 4 ปี ว่า ในด้านความสามารถทางนวัตกรรมและคุณภาพมหาวิทยาลัย ได้ตั้งเป้าหมาย อาทิ การขยับอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ที่จัดอันดับโดยสถาบัน IMD ให้อยู่ใน 25 อันดับแรก ดัชนีนวัตกรรมโลก ตั้งเป้าให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ยกระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยจำนวน 2 แห่ง ให้อยู่ใน 200 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) โดยให้มีสถาบันอุดมศึกษาภูมิภาคอย่างน้อย 1 แห่งอยู่ในอันดับระหว่าง 601 – 800 รวมถึงพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวน 8 แห่ง ให้อยู่ใน SDG Impact Ranking ส่วนความสามารถกำลังคนทักษะสูง ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์หรือ STEM ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 55% และกำลังคนทักษะสูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40%
ที่สำคัญ ยังตั้งเป้าให้มูลค่าการลงทุนด้าน R&D ของประเทศไม่ต่ำกว่า 2% ต่อจีดีพี โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) จากการลงทุนด้าน ววน. ไม่ต่ำกว่า 5 เท่า และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น เช่น สิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 50 รายการ มูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม 5.8 แสนล้านบาท ในส่วนของผลกระทบการลงทุน R&D ต่อความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ Startup, SME และเกษตรกร รัฐตั้งเป้าหมายในการปั้นให้เกิด Unicorn Startup 7 บริษัท ธุรกิจฐานนวัตกรรมที่เป็น SMEs มีรายได้รวมทุกบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านบาท เกษตรกรที่ใช้ Smart Farming มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน อววน. ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและมอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าต่อสภานโยบายต่อไป
นอกจากนี้ สภานโยบายยังมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดด้านการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษามีกลไกการบริหารจัดการพัสดุด้านการวิจัย การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเป้านำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
“หลักเกณฑ์ที่สภานโยบายเห็นชอบฉบับนี้ จะมีส่วนช่วยให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมกับการวิจัยพัฒนาและการบริการวิชาการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงวงเงินและเหตุผลที่ซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง การปลดล็อกให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถซื้อพัสดุที่มีคุณลักษณะพิเศษ หรือการจ้างผู้มีทักษะความชำนาญสูงได้ การกำหนดข้อยกเว้นให้จ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากต่างประเทศ รวมทั้งการปลดล็อกให้สามารถโอนพัสดุให้เอกชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ สหกรณ์ มูลนิธิ วัด องค์กรการกุศล ตามข้อตกลงความร่วมมือหรือสัญญาได้ ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้เสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ขอให้สถาบันวิจัยได้ใช้ประกาศฉบับนี้ กับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้วย” นางสาวศุภมาส กล่าว
ขอบคุณภาพจากทำเนียบรัฐบาล