กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเวทีการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) (Regional Forum on Policies to Promote Private Sector Engagement in Science, Technology and Innovation) ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UN ESCAP) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ทั้งประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมกับ Ms.Rupa Chanda, UN ESCAP ฯพณฯ Seingheng Hul, Ministry of Industry, Science, Technology & Innovation ประเทศกัมพูชา Mr.Souksavath Sihapanya, Ministry of Education and Sport สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ Mr.Truong Phi Nguyen, State Agency for Technology Innovation, Ministry of Science and Technology ประเทศเวียดนาม กล่าวต้อนรับผู้แทนจาก 4 ประเทศ โดย ดร.สุรชัย ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าด้าน วทน. และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในประเทศไทย และความสำคัญของคู่มือเชิงนโยบาย Workbook on Policies to Promote Private Sector Engagement in STI ในการเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับนักนโยบายและผู้ฝึกปฏิบัติ รวมถึงได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยด้านการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อน วทน. วิสาหกิจเริ่มต้น Startup เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับ วทน. เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน และการร่วมมือภายในประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อกระตุ้นการสร้างนวัตกรรม
ในวาระการนำเสนอคู่มือเชิงนโยบายฯ นั้น Mr.Rafael Torquato Cruz, UN ESCAP และ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรบรรยายและได้กล่าวถึงแนวทางการใช้คู่มือเชิงนโยบายฯ เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถด้าน วทน. ในระดับประเทศ โดยการสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน และวิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมแสดงความเห็นโดยการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและมาตรการดังที่ปรากฎในคู่มือเชิงโนบายฯ ผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงแสดงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสืบค้นข้อมูลในคู่มือเชิงนโยบายฯ ดังกล่าว
นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อการยกระดับเครือข่ายสำหรับความร่วมมือด้าน วทน. ในระดับภูมิภาค (Leveraging Networks for Regional Cooperation in STI) ร่วมกับ ฯพณฯ Seingheng Hul ประเทศกัมพูชา Ms.Silinthone Sacklokham สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ Mr.Truong Phi Nguyen ประเทศเวียดนาม โดย ดร.ปราณปรียา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายในระบบนิเวศนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายนักนโยบายภาครัฐ ในการออกแบบ วางแผน และดำเนินการ เพื่อจัดการกับความท้าทายในระดับภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวบรวมทรัพยากรทางปัญญาและเทคโนโลยี ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงความท้าทายในการบริหารจัดการโครงการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.ปราณปรียา ยังได้กล่าวถึงโอกาสในการขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศ จากการดำเนินโครงการแพลตฟอร์ม วทน. สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกครบระบบ และโครงการการสนับสนุนการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนของห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง
ในช่วงท้ายของการประชุมนั้น Ms. Marta Perez Cuso, Economic Affairs Officer, UN ESCAP ได้กล่าวปิดการประชุม พร้อมทั้งได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จของโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ที่เกิดจากการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างทั้ง 4 ประเทศอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเวทีการประชุมระดับภูมิภาคนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม (CLTV) (South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอคู่มือเชิงนโยบายฯ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีฯ และเพื่อหารือแนวทางนโยบายด้าน วทน. ในอนาคตระหว่าง 4 ประเทศดังกล่าว โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น Startup และความร่วมมือระดับภูมิภาคด้าน วทน.
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม และ คู่มือเชิงนโยบาย Workbook on Policies to Promote Private Sector Engagement in STI สามารถเข้าถึงได้ที่