messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ มจธ. ปิดหลักสูตรนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ฯ รุ่นที่ 6 สานต่อการผลิตนักนโยบาย อววน. สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ มจธ. ปิดหลักสูตรนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ฯ รุ่นที่ 6 สานต่อการผลิตนักนโยบาย อววน. สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

วันที่เผยแพร่ 21 มิถุนายน 2024 171 Views

เมื่อวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 6 (STI Policy Design: STIP06) พร้อมจัดการนำเสนอข้อเสนอนโยบาย (Final Presentation) จากผู้เข้าร่วมหลักสูตร ณ ห้องสุรศักดิ์ 1 ชั้น 11 โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 58 คน จาก 30 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงภาคเอกชน

ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการ สอวช. ดร.สิริพร กล่าวในพิธีปิดงานว่า หลักสูตรนี้ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว เราเริ่มทำมาตั้งแต่ออกแบบหลักสูตรและมีหน่วยงานเข้าร่วมเพียง 1-2 หน่วยงาน จนมาถึงปีนี้ที่มีผู้เข้าร่วมมากถึง 30 หน่วยงาน ถือว่าเกินความคาดหมายของกลุ่มคนที่เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตร จุดเริ่มต้นเราอยากจะสร้างนักนโยบายที่อยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการทำนโยบายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ การผลักดัน และแรงที่จะช่วยขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของประเทศไปให้ได้ ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 9 กลุ่ม ได้นำเสนอข้อเสนอนโยบายที่หลากหลาย ทำให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจและชี้ให้เห็นเป้าหมายสำคัญของการทำนโยบายเหล่านี้ว่าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องขอบคุณผู้บริหาร มจธ. สอวช. ทีมงาน รวมถึงที่ปรึกษาและโค้ช จากทุกหน่วยงานที่ทำให้งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จ หวังว่าหลังจากนี้เราจะมีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกันต่อไป

ด้าน ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า หลักสูตร STIP จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างนักนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้กับประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายในการสร้างสรรค์นโยบายให้ประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งในปี 2567 ได้เริ่มหลักสูตรมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบการฟังบรรยายเกี่ยวกับพื้นฐานการทำนโยบาย ไปจนถึงการทำงานกลุ่ม ในการขึ้นรูปนโยบายตามหัวข้อที่กำหนด และในครั้งนี้จะเป็นการแสดงผลงานที่ผู้เข้าร่วมหลักสูตรทุกคนได้ร่วมกันทำขึ้นมา เป็นโอกาสให้ได้เห็นข้อสรุปผลงานของแต่ละกลุ่ม และยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นต่อผลงานในการนำเสนอครั้งนี้ด้วย

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา มจธ. กล่าวว่า ยินดีที่เห็นโครงการนี้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 6 ทำให้ได้เห็นพัฒนาการที่ดีในเรื่องการทำนโยบายของประเทศ สอดคล้องกับกระบวนการวางนโยบายที่เปลี่ยนไป โดยได้เสนอ STIPI ว่าอยากเห็นการสร้างเครือข่ายนักนโยบาย อววน. ให้มีการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดเวลา และที่สำคัญหลักสูตร STIP ยังมีเครือข่ายกับคนทำงานเรื่องวางแผนของเอเชียตะวันออกและอาเซียน อยากเห็นการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวางแผน นักนโยบายของไทยกับประเทศเหล่านี้ การสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อยากเห็นงานที่คนจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาทำงานร่วมกัน สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและประเทศของเรา

ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า ยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาทุกคน ถ้านับรวมตั้งแต่รุ่นที่ 1 ตอนนี้มีผู้เข้าอบรมรวมกว่า 300 คนแล้ว ทำให้ย้อนนึกไปถึงวันแรกที่คิดจะทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา พบว่าหลักสูตรมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก หลังจากนี้เราก็จะมีชาว STIPer เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนได้คนที่จะไปช่วยกันขับเคลื่อน อววน. ของประเทศได้อย่างเพียงพอ หลังจบหลักสูตรก็อยากให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกันต่อไป เกิดการทำงานข้ามหน่วยงานที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ตลอดระยะเวลาของการอบรม ได้เห็นว่าปีนี้มีการทำงานกันอย่างเข้มข้น มีการนำเสนอที่ดี ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติหลายอย่าง หวังว่าทุกท่านจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากหลักสูตรนี้ไปใช้ขับเคลื่อนด้าน อววน. และด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยต่อไป

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ STIPI มจธ. กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา เรามีความมุ่งหมายให้ได้ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. เห็นโจทย์ความท้าทายของประเทศ อาทิ การเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ลดลง การติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ปัญหาการย้ายฐานการผลิต หรือการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนของกลุ่มทุนนานาชาติ ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของไทย จึงถือเป็นโจทย์ให้เราขบคิดไปด้วยกัน 2. ได้หลักคิดนำทางในการทำนโยบายด้าน อววน. โดยเฉพาะหลักคิดในการแปลงแผนไปสู่ผลได้จริง และ 3. อยากให้เกิดเครือข่ายที่มีพลังในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน จากหน่วยต่าง ๆ ก้าวข้ามข้อจำกัดในการทำงานและหันมาสนธิกำลังกันในการทำนโยบาย

สำหรับหลักสูตร STIP ในปีนี้ ผู้เข้าอบรมแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้ดำเนินการพัฒนาข้อเสนอนโยบายจากโจทย์หัวข้อใหญ่ตามที่ได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ข้อเสนอ: การพัฒนาทักษะแรงงานธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในภาคการท่องเที่ยว เมืองพัทยา กลุ่มที่ 2 ข้อเสนอ: นโยบายส่งเสริมการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV เพื่อลด CO2 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขตพื้นที่กรุงเทพฯ (Phase1) กลุ่มที่ 3 ข้อเสนอ: นโยบายส่งเสริมการใช้นวัตกรรม AI-CXR ในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค กลุ่มที่ 4 ข้อเสนอ: การสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม ในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคเชิงป้องกันโรค กลุ่มที่ 5 ข้อเสนอ: ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระบบนิเวศสนับสนุน Deep Tech เพื่อยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มยางพาราภาคใต้ กลุ่มที่ 6 ข้อเสนอ: ยุติความจน ด้วยแหล่งรายได้ใหม่จากฐานทรัพยากรในชุมชนพื้นที่บ้านสำราญ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มที่ 7 ข้อเสนอ: การสร้างกระบวนการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในมาตรการภาษีคาร์บอนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืนและแข่งขันในตลาดต่างประเทศ กลุ่มที่ 8 ข้อเสนอ: กลไกการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการจิ้งหรีดของไทย สู่การเชื่อมโยงระดับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และกลุ่มที่ 9 ข้อเสนอ: การขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์งานฝีมือและหัตถกรรม” ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือด้วยความคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาล้านนา

ภายในงานยังได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรม รวมถึงมีการประกาศผลทีมที่ได้รับรางวัลจากการจัดทำข้อเสนอนโยบายแบ่งเป็น 3 รางวัล โดยทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ กลุ่มที่ 2 นโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อน Next Gen. Logistics ข้อเสนอ: นโยบายส่งเสริมการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV เพื่อลด CO2 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขตพื้นที่กรุงเทพฯ (Phase1) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มที่ 8 การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ข้อเสนอ: กลไกการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการจิ้งหรีดของไทย สู่การเชื่อมโยงระดับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มที่ 3 นโยบายส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ข้อเสนอ: นโยบายส่งเสริมการใช้นวัตกรรม AI-CXR ในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค

เรื่องล่าสุด