เมื่อวันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ร่วมกับ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center และคณะร่วมเดินทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงานการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) และการบ่มเพาะผู้ประกอบการการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการ Thai-China CBEC Excellence Program for Startups ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองจินหวาและเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง สาธารณประชาชนจีน
เมืองอี้อู้เป็นที่ตั้งของศูนย์จำหน่ายสินค้านานาชาติอี้อู ซึ่งเป็นศูนย์การค้าส่งระดับโลกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยประกอบด้วยทั้งหมด 5 อาคารที่มีประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน โดยทางคณะฯ ได้เยี่ยมชมในส่วนของอาคารที่ 1 ที่มุ่งเน้นสินค้าขายส่งประเภทของเล่น เครื่องประดับและสินค้าตกแต่งบ้าน และผู้มาเยี่ยมชมสามารถติดต่อการค้ากับร้านที่ผลิตสินค้าได้โดยตรง ทั้งนี้ ในแต่ละร้านยังได้มีการจัดระดับโดยทางศูนย์จำหน่ายฯ และความคิดเห็นของลูกค้า โดยร้านที่มี 5 A จะถือว่ามีคุณภาพสูงสุดในด้านคุณภาพสินค้าและบริการการขาย ซึ่งในหลายร้านค้าโดยเฉพาะร้านประเภทเครื่องประดับได้เน้นย้ำถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าจากการออกแบบและผลิตสินค้าเอง ถัดมา ทางคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารที่ 5 ของศูนย์จำหน่ายสินค้าฯ ซึ่งจัดจำหน่ายสินค้านำเข้าจากทั่วโลก จึงกลายเป็นแหล่งค้าขายสำคัญสำหรับผู้ค้ารายย่อยที่ต้องการหาสินค้านำเข้าไปขาย และผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้านำเข้าในราคาที่ถูกกว่าศูนย์การค้าทั่วไป
ถัดมาคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์รวบรวมและจัดส่งพัสดุภัณฑ์ของบริษัท China Post ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าขนาดใหญ่ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร สามารถรองรับพัสดุกว่าสองแสนชิ้นต่อวัน และมีประสิทธิภาพในการคัดแยกสินค้าอย่างแม่นยำถึง 99.99% ปริมาณสินค้าส่วนมากจะเป็นสินค้าที่ถูกส่งออกจากเมืองอี้อูมากกว่านำเข้ามาภายในเมือง นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังมีการจัดเส้นทางการส่งสินค้าไปประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะอีกด้วย
จากนั้น คณะได้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้าน Lizu ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบของโมเดลการพัฒนาชนบท โดยในอดีตหมู่บ้าน Lizu เป็นหมู่บ้านที่มีความยากจน ประชาชนในหมู่บ้านต่างอพยพออกไปต่างเมืองเพื่อหางานทำเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ทางหมู่บ้านและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในหมู่บ้านได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวในอดีตเพียง 5,000 หยวนต่อปี (โดยประมาณ 25,000 บาท) เพิ่มขึ้นเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่าหนึ่งแสนหยวนต่อปี (โดยประมาณ 500,000 บาท) ซึ่งเกิดจากแผนการพัฒนาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ตั้งแต่สมัยเป็นเลขาธิการพรรคมณฑลเจ้อเจียง (มณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองอี้อู) โดยปัจจัยสำเร็จหลักของการพัฒนา คือ การสร้างการพัฒนาด้านคมนาคมในพื้นที่ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง และระบบโลจิสติกส์ ทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ ประกอบกับสร้างศูนย์การค้าขายส่งขนาดใหญ่ ให้คนในหมู่บ้านและรวมถึงชาวเมืองอี้อูสามารถนำของมาขายและสร้างรายได้จำนวนมากแก่ครัวเรือน
ณ เมืองจินหวา สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับคณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการ Zhejiang Normal University โดยความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนนักศึกษา รวมถึงโอกาสในการศึกษาฝึกงานในบริษัทประเทศจีน โดยคณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการ Zhejiang Normal University มีจุดเด่นด้านการบ่มเพาะนักศึกษาด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการค้าจีน-แอฟริกา เพื่อบ่มเพาะบุคลากรในด้านนี้โดยเฉพาะ จากนั้นคณะศึกษาดูงานได้เยี่ยมห้องเรียนจำลองการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งมีการนำโปรแกรมจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงในขั้นตอนต่าง ๆ ของการค้าอิเล็กทรอนิกส์ตลอดห่วงโซอุปทาน อาทิ การบริหารจัดการหน้าร้านบนแพลทฟอร์ม การจัดการสต็อกสินค้า ผ่านพิธีศุลกากร เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมที่ใช้การเรียนการสอนดังกล่าว พัฒนาโดยอาจารย์ภายในคณะและสามารถ Spinoff ออกมาเป็นบริษัทของตนเอง และปัจจุบันโปรแกรมนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีน
นอกจากนี้ สอวช. ร่วมกับคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีและคณะ ได้เยี่ยมเยือน School of Entrepreneurship, Yiwu Industrial & Commercial College (YWICC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลจาก Alibaba ว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยมีหลักสูตรบ่มเพาะนักศึกษาให้ประกอบธุรกิจด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเมืองอี้อู้ที่เป็นศูนย์การค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้นักศึกษาได้ทดลองนำสินค้าขึ้นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์และ Live Commerce สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาก่อนที่จะเรียนจบและเรียนรู้ผ่านการปฎิบัติจริง นอกจากนี้ สอวช. ได้เข้าร่วมพิธีเปิดตัวความร่วมมือการจัดตั้ง Thai-China Startups Center และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ School of Entrepreneurship YWICC โดย นางสาวมนันยา ได้กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการพัฒนานโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจนวัตกรรมและกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยกล่าวว่า YWICC เป็นสถาบันที่มีศักยภาพและมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างผู้ประกอบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงเห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ได้สร้างความร่วมมือกับ CAMT ที่มีความโดดเด่นด้านดิจิทัลและการบ่มเพาะผู้ประกอบการ รวมถึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันในอนาคตอันใกล้
คณะฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชม Yiwu Cross-border E-commerce Comprehensive Pilot Zone ที่มีการทดลองกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดน โดยได้เยี่ยมชมในส่วนของ fulfillment center ที่เป็นคลังสินค้าสำหรับกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนของบริษัท KaiCang(凯仓)ที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่บริการด้านคลังสินค้า การผ่านพิธีศุลกากร ตลอดจนการส่งของถึงมือลูกค้า
สุดท้าย คณะฯ ได้เข้าชมศูนย์เส้นทางรถไฟอี้อู-ซินเจียง-ยุโรป (Yiwu-Xinjiang-Europe China Railway: YXE) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจากเอเชียไปสู่ยุโรป โดยเริ่มจากอี้อูเป็นสถานีเริ่มต้น และสิ้นสุดที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน ใช้เวลาขนส่งเพียง 17-18 วัน สามารถส่งสินค้าแช่แข็งประเภทเนื้อสัตว์และอาหารทะเลได้ ซึ่งในปี 2023 เส้นทางรถไฟนี้มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้ากว่า 3 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)