วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการ ด้านมาตรฐานชิ้นส่วนและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง กล่าวเปิดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ และรับฟังข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง – ความปลอดภัยและสมรรถนะพื้นฐาน ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ และผ่านระบบการสัมมนาออนไลน์ (Webex) โดยในงานดังกล่าว มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงกว่า 20 หน่วยงาน ไม่น้อยกว่า 60 คน เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานดังกล่าว
การจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้อแนะนำการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและมาตรฐานการตรวจสอบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
สำหรับมาตรฐานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง – ความปลอดภัยและสมรรถนะพื้นฐาน นี้ เป็นการร่วมกันพัฒนาระหว่างทีมวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มีความปลอดภัย และสมรรถนะ เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมาตรฐานฉบับนี้ให้รายการตรวจสอบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มากกว่า 100 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้ใช้งาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานกำกับดูแล ในส่วนของ (ร่าง) มาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง – ความปลอดภัยและสมรรถนะพื้นฐาน ที่จัดทำโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ นั้น มีเนื้อหาครอบคลุมด้านต่าง ๆ ในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งก่อนและหลังการดัดแปลง โดยก่อนการดัดแปลงนั้น มีมาตรฐานครอบคลุมรถที่จะนำมาใช้ดัดแปลง รวมถึงชิ้นส่วน อุปกรณ์ และระบบที่จะนำมาใช้ดัดแปลง
ในส่วนของ (ร่าง) มาตรฐานหลังการดัดแปลง ประกอบไปด้วย 1. การตรวจสอบสภาพและการทำงานพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยมีรายการตรวจสอบตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ให้ 2. ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ซึ่งประกอบไปด้วย ความปลอดภัยทางไฟฟ้า ความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่สามารถอัดประจุซ้ำได้ ความปลอดภัยในภาวะเปียก ความปลอดภัยเชิงฟังก์ชั่น และความปลอดภัยภายหลังการชน และ 3. ข้อกำหนดด้านสมรรถนะพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า สมรรถนะการทำงาน (สมรรถนะการวิ่ง, สมรรถนะการใช้พลังงาน, สมรรถนะการทรงตัว, สมรรถนะการเร่งความเร็ว และสมรรถนะการห้ามล้อ) และข้อกำหนดด้านความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม – น้ำ
สำหรับข้อคิดเห็นที่มีต่อ (ร่าง) มาตรฐานดังกล่าวนั้น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การกำหนดข้อมูลเบื้องต้นในคู่มือผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มาตรฐานการติดตั้งสวิทช์ตัดกระแสไฟฟ้าฉุกเฉินสำหรับหน่วยกู้ภัย การใส่ภาพประกอบข้อกำหนดต่าง ๆ ใน (ร่าง) มาตรฐาน การกำหนดข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับเจ้าพนักงานตรวจสอบของกรมการขนส่งทางบก มาตรฐานคุณสมบัติช่างติดตั้งและผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และการตรวจสอบกรณีรถยนต์ที่จะนำมาดัดแปลงนั้นผ่านการชน หรือไม่ เป็นต้น