ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการเสวนา เรื่อง “หยิบมาเล่ากับความก้าวหน้าและการขับเคลื่อนระบบข้อมูล อววน.” ในกิจกรรม Pick Up Day! by NRIIS 2024 (การประชุมผู้ประสานงานระบบ NRIIS ประจำปี 2567) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่าน Zoom Meeting และ Facebook Live เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567
ดร.สิริพร กล่าวถึงความเชื่อมโยงข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตามกฎหมาย และแผนบูรณาการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาประเทศให้มีระบบข้อมูล อววน. ที่เป็นเอกภาพ แบบไร้รอยต่อ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบข้อมูล อววน. ได้โดยสะดวก และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูล อววน. ได้ตรงตามความต้องการ โดยรายการข้อมูลที่จะดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบข้อมูลด้านการอุดมศึกษา (HiEd) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTIS) และด้านวิจัยและนวัตกรรม (NRIIS) นั้น ประกอบด้วย 5 ชุดข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลบุคลากรในระบบ อววน. ข้อมูลโครงการด้านวิจัยและนวัตกรรม และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้อมูลผลงานด้านวิจัยและนวัตกรรม และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยานิพนธ์ และข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.สิริพร ยังได้รายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้แผนบูรณาการฯ ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 หน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละระบบข้อมูลได้มีการดำเนินงานตามแผนและตัวชี้วัดหลักที่เสร็จสิ้นแล้ว เช่น มีข้อตกลงร่วมกันในการบูรณาการข้อมูลระหว่างระบบข้อมูล 3 ระบบ (HiEd, NRIIS, NSTIS) มีการเชื่อมโยงข้อมูล อววน. เข้าสู่ระบบข้อมูล 3 ระบบ (HiEd, NRIIS, NSTIS) และมีระบบเทคโนโลยีทันสมัยที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระบบข้อมูล 3 ระบบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้อธิบายกลไกคณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระบบข้อมูลด้าน อววน. ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานการเชื่อมโยงระบบข้อมูล อววน. อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับนโยบายข้อมูล อววน. โดยแผนงานระยะถัดไป จะเชื่อมโยงระบบข้อมูล อววน. กับหน่วยงานภาครัฐ นอกกระทรวง อว. และเอกชน รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูล อววน. ให้มีข้อมูลเป็นชุดเดียวกันและเป็นปัจจุบัน และการบริการข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น