กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในโอกาสเปิดตัว Grand Opening “MAGROW Holding Company” บริษัทร่วมทุนเอกชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องอาคม กาญจนประโชติ ชั้น 4 อาคารอำนวย ยศสุข มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเปิดตัวบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นตัวแปรสำคัญสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เตรียมการจัดตั้ง University Holding Company (UHC) มาตั้งแต่ปี 2562 และได้จดทะเบียนจัดตั้ง ในชื่อ MAGROW Holding อย่างเป็นทางการในปีนี้ โดยที่มาของชื่อบริษัทร่วมลงทุนมากจาก Maejo + Agriculture + Grow Together สื่อถึงความหมายที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรของภูมิภาคและเติบโตไปด้วยกัน โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนี้เป็นหนึ่งกลไกในระบบนิเวศนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุน สนับสนุนการเติบโตของ Startup และ Spinoff ตลอดจนขับเคลื่อนผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและประเทศ โดยปัจจุบันมีบริษัทลูกภายใต้มหาวิทยาลัยจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท เฟิร์สท์ ออร์แกนิค ซีดส์ จำกัด และ บริษัท อนิ โปรดัก จำกัด
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้การจัดตั้ง MAGROW Holding Company ประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ การมีตัวอย่างจาก UHC อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและแบ่งปันข้อมูล มีความพร้อมของระบบนิเวศนวัตกรรม มีนักวิจัยกลุ่ม frontier และที่สำคัญคือความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการจัดตั้ง UHC และมองถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก รวมทั้งการมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้เกิดการจัดตั้งได้สำเร็จ
กระทรวง อว. โดย สอวช. เล็งเห็นความสำคัญของ UHC ในการเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) ของไทย โดยได้ผลักดันการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ ระเบียบนี้ได้ปลดล็อกข้อจำกัดและส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐเกิดการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เกิดบริษัทธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อาศัยงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยไทย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง
ขอบคุณภาพจาก: ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้