messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมงานสัมมนาวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ “Driving Net Zero Campus” ภายใต้งาน อว. แฟร์

กระทรวง อว. โดย สอวช. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมงานสัมมนาวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ “Driving Net Zero Campus” ภายใต้งาน อว. แฟร์

วันที่เผยแพร่ 26 กรกฎาคม 2024 391 Views

จากเป้าหมายการขับเคลื่อนและผลักดันเพื่อสร้างพันธมิตรและเครือข่ายการวิจัย รวมถึงการสร้างเครือข่ายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ต่อยอดนโยบายของกระทรวง อว. และยุทธศาสตร์ อววน. ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทาง สอวช. และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมงานสัมมนาวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ “Driving Net Zero Campus” ภายใต้งาน อว. แฟร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง MR 208 ชั้น 2 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมครั้งนี้ มีเสวนาในประเด็นสำคัญ หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero Campus” ซึ่งเป็นเวทีรวมความเห็นผู้เชี่ยวชาญและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนดังกล่าว ได้แก่ 1) นายปัญญา วรเพชรายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรฯ 2) ดร.มานพ อุดมเกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านยั่งยืนและนักเศรษฐศาสตร์จาก United Nations Thailand (Resident Coordinator Organization: UN RCO) 3) นายณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด 4) รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 5) รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. เป็นผู้ดำเนินรายการ จากเวทีเสวนาได้ความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญในการขับเคลื่อน ดังนี้

ผู้แทนกรม สส. ได้นำเสนอถึงยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และแผนปัจจุบันของประเทศ กรอบการดำเนินงานหรือพันธกรณีภายใต้กรอบ UNFCCC เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากระดับโลกสู่การขับเคลื่อนภายในประเทศ (NDC Action Plan 2021-2030) รวมถึงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Adaptation Plan) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยประสานงาน (RCO) กลุ่ม UN Country Team ได้เสนอถึงการดำเนินงานของหน่วยงาน UN มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องในเป้าหมายหลัก ได้แก่ การพัฒนา Green Economy การดำเนินงานที่สนับสนุน Human Resource และการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Green Finance สนับสนุน Carbon Market และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหารจาก SCG ได้เสนอถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสร้าง Mindset Action และ Value ในทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังได้เสนอข้อริเริ่มสำคัญและการดำเนินงานที่สำคัญของสระบุรีแซนบอกซ์ (Saraburi Sandbox)

ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในการขับเคลื่อนระยะเริ่มต้นต้องผลักดันนโยบายเหล่านี้สู่นโยบายภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเป้าหมายการขับเคลื่อนต่อไป โดยภาคมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ในระดับ Think tank ซึ่งมีความพร้อมในการสนับสนุน NDC ของประเทศ รวมถึงต้องปรับตัวเพื่อการดำเนินงานที่สอดรับ พรบ. Climate Change โดยมีหมวดที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในมิติการปล่อยและดูดกลับ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรด้าน Carbon Accounting และการเสนอถึง Best Practice หรือจัด Guideline ของประเทศไทยเองจึงมีความสำคัญและเป็นประเด็นเร่งด่วน

ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอถึงการดำเนินงานของโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
(Net Zero Campus) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาแพลตฟอร์มเครือข่ายมหาวิทยาลัย (Net Zero Campus) ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พัฒนาฐานข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พัฒนาต้นแบบการดำเนินงานด้านพลังงาน และการจัดทำสมุดปกขาว (White Paper) เพื่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายขับเคลื่อนเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนได้เสนอถึงมิติการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรม สส. มีการดำเนินโครงการ CCE Youth, Green Production, Green Citizen และการสร้างความตระหนักรู้ในโรงเรียนและกลุ่มเยาวชน หน่วยงาน UN CRO ได้ส่ง Expert หรือ Speaker ในการบรรยายแก่มหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศในเรื่องความยั่งยืน สำหรับมุมมองในภาคธุรกิจเสนอถึงการเปลี่ยนผ่านด้วยพลังของมหาวิทยาลัยและการสร้างเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งในระดับธุรกิจเองก็ต้องมีการเปลี่ยนผ่านอย่างโปร่งใสและร่วมกันสร้าง Regenerative Cultures ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน  

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีผู้บริหารและผู้ประสานงานหลักของหน่วยงานในด้านที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมรับฟังการเปิดตัว “Driving Net Zero Campus” ทำให้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานและหลักการสำคัญในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดทำฐานข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกของเครือข่ายมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยสามารถลงทะเบียนได้ที่ www.netzerocampus.org เพื่อเข้าร่วมในการจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานและเสนอชื่อผู้ประสานงานหลักของหน่วยงาน เพื่อเป็นส่วนร่วมในการดำเนินงานของโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) ในระยะแรกและระยะถัดไป

เรื่องล่าสุด