messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “อว.แฟร์” คึกคัก นวัตกรน้ำทั่วประเทศรวมตัว ระดมสมอง จัดทำร่างเอกสารวิชาการ สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่ออนาคตประเทศไทย ก่อนออกเป็นสมุดปกขาวการจัดน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

“อว.แฟร์” คึกคัก นวัตกรน้ำทั่วประเทศรวมตัว ระดมสมอง จัดทำร่างเอกสารวิชาการ สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่ออนาคตประเทศไทย ก่อนออกเป็นสมุดปกขาวการจัดน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

วันที่เผยแพร่ 28 กรกฎาคม 2024 131 Views

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาการจัดทำร่างเอกสารวิชาการสารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่ออนาคตประเทศไทย ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน การสัมมนาในครั้งเกิดจากความร่วมมือของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยวิทยากรผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), ดร.สิริพร พิทยโสภณ รักษาการแทน ผู้อำนวยการ สอวช. และผู้แทนเครือข่ายการจัดการระดับชุมชนจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ  การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่เริ่มมีมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การประชุมสัมมนาในวันนี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่างเอกสารวิชาการ “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่ออนาคตประเทศไทย” หรือ “Hydro-informatics for Future Thailand” ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสมุดปกขาวต่อไป

“นโยบายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะเป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมการสร้างกำลังคนที่มีทักษะการใช้นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงกับภาคเกษตร และพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ซึ่งส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทั้งในมิติน้ำและมิติความสามารถและการต่อยอด นำไปสู่ภาพใหญ่ในระดับจังหวัด ภูมิภาคและประเทศต่อไป” รมว. อว. กล่าว

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า  ในฐานะรัฐมนตรี อว. ขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นการสร้างกลไกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคปฏิบัติ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในด้านการบริหารจัดการน้ำ กระทรวงของเราได้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายด้านและได้ร่วมมือในระดับนานาชาติร่วมด้วย อาทิ ระบบพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย การสัมมนาในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานจริงและบริบทของประเทศไทย

ดร.รอยบุญ ได้ฉายภาพการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้เทคนิคการบริหารจัดการน้ำชุมชน แบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยการฟื้นฟูเขาหัวโล้น ฝายชะลอน้ำ ป่าเปียก แนวกันไฟ ปลูกไม้ 3 อย่างมีประโยชน์ 4 อย่าง 2.อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง-เล็ก ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ ระบบสระพวง  3.พื้นที่น้ำท่วมน้ำแล้ง ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำ แก้มลิง คลองดักน้ำหลาก ถนนน้ำเดิน ร่องสวน โครงสร้างบริหารจัดการน้ำ 4.พื้นที่สมดุลนิเวศท้ายน้ำ บริหารจัดการน้ำทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเสีย และ 5.เศรษฐกิจชุมชน โดยการพัฒนาเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และกองทุนสวัสดิการชุมชน  

ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า สกสว. ในฐานะที่ดูแลเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ สิ่งที่อยากเห็นคือความเป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำ  การได้รับประโยชน์ร่วมกัน ในภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม เพื่อลดความขัดย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำหลายแห่ง แต่ขาดการบรูณาการทำงานร่วมกัน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความมั่นคงทางด้านน้ำทั้งปริมาณและคุณภาพ เราจะออกแบบระบบ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ตลอดจนการสร้างรายได้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ได้อย่างไร ทั้งภาคเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ วันนี้เรามีทิศทางการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น เนื่องจากมีหน่วยบริหารจัดการทุนหลายแห่ง ที่ทำงานเชื่อมโยงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ระดับจังหวัด สอดรับกับแผนงานวิจัยรองรับวิกฤตน้ำที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก

ดร.สิริพร กล่าวว่า ในมุมของ สอวช. เราพยายามผลักดันโดยการนำ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.)  เข้าไปช่วยบริหารจัดการน้ำตลอดจนลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงคน ซึ่งถือเป็นนวัตกรน้ำชุมชนที่เราจะขาดไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นผู้ที่ช่วยดูแลระบบในพื้นที่ เพื่อไม่ให้สะดุดในการบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย สอวช. จะนำข้อมูลจากการสัมมนาในวันนี้ไปถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นสมุดปกขาวต่อไป

ดร.สิริพร กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีหน่วยงานในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายเรามี สภานโยบาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี สอวช. เป็นเลขานุการ เรามีบุคลากรจากมหาวิทยาลัย 174 แห่งทั่วประเทศ ที่มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 5 กลุ่ม และยังมีกลุ่มด้านวิจัย และหน่วยให้ทุนอีก 9 แห่ง ที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันแพครวมนโยบายเพื่อทำงานกันเป็นทีมในช่องทางที่เรามี และเชื่อมโยงหน่วยงานอื่น ๆ นอกกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม   ขณะที่ผู้แทนเครือข่ายฯ ซึ่งมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำก็แตกต่างกันไปด้วย โดยในช่วงแรกได้มี สสน.ลงมาให้ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ติดตามสถานการณ์น้ำผ่านเว็ปไซต์ Thaiwater.net  แอปพลิเคชั่น Thaiwater องค์ความรู้ด้าน BCG ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนชุมชน จนได้แบบอย่างความสำเร็จของชุมชนต้นแบบ จากนั้นขยายผลโดยการเป็นพี่เลี้ยงและดึงศักยภาพของแต่ละชุมชน รวมกลุ่มเป็นเครือข่าย มาบริหารจัดการน้ำร่วมกับชลประทาน และหน่วยงานในพื้นที่ เพราะทุกอย่างต้องเริ่มจากชุมชน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย น้ำกร่อย เริ่มดีขึ้น

เรื่องล่าสุด