messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุมวาระสาธารณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุมวาระสาธารณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่เผยแพร่ 18 กันยายน 2024 277 Views

เมื่อวันที่ 16-17 กันยายน 2567 ดร.สุนทรี นามลิวัลย์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมวาระสาธารณะ (Public Meeting) ของการประชุมวาระปกติของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 31 (31st Ordinary Session of the International Bioethics Committee: IBC) การประชุมร่วมของ IBC และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (the Intergovernmental Bioethics Committee: IGBC) และการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 13 (13th Extraordinary Session of the World Commission of the Ethics of Scientific Knowledge and Technology: COMEST) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ณ สำนักงานใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ ดังนี้ 1. เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการอภิปรายไปประกอบการปรับปรุงพัฒนาเอกสารเชิงหลักการ (concept note) และจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 และ 2. เพื่อพัฒนากรอบจริยธรรม (ethical framework) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนพื้นฐานของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

วาระการประชุมประกอบด้วยการนำเสนอและอภิปรายเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านชีวจริยธรรมและจริยธรรมในการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การนำเสนอ concept note ของ IBC และ COMEST จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1. COMEST Concept Note on the Ethics of Quantum Computing 2. IBC Concept Note on the Ethical Issues related to the Acceleration of the Development of Synthetic Biology 3. IBC Concept Note on Digital Media and Mental Well-Being among Children and Adolescents: An Ethics and Human Rights Perspective และ 4. COMEST Concept Note on Ethical Considerations on Space Exploration and Exploitation ตามลำดับ รวมถึงการอภิปรายหารือเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากรายงานข้างต้นอย่างเต็มที่ต่อไป

การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มีผลดีและเป็นประโยชน์ต่อ สอวช. อว. และประเทศไทย 3 ประการ ดังนี้ 1. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกที่มีบทบาทแข็งขันอย่างดีเสมอมาจนถึงปัจจุบัน 2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลงานวิจัย องค์ความรู้ และสถานการณ์โลก (global trends) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานนโยบาย 3. เพิ่มพูน visibility ของ สอวช. อว. และประเทศไทยในเวทีวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับประเด็นจริยธรรมและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การขยายโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการทำงานเชิงนโยบายร่วมกับองค์การยูเนสโกต่อไป

อนึ่ง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organisation) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ (United Nations) หรือ ยูเอ็น (UN) ที่มีอาณัติในการสะท้อนประเด็นด้านจริยธรรมที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาความคิดริเริ่มเชิงนโยบายจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมวาระสาธารณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขององค์การยูเนสโกได้ที่ https://www.unesco.org/en/articles/31st-ordinary-session-ibc/joint-session-ibc-and-igbc/13th-extraordinary-session-comest

เรื่องล่าสุด