messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ Government Foresight Community ครั้งที่ 11โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

สอวช. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ Government Foresight Community ครั้งที่ 11โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

วันที่เผยแพร่ 11 ตุลาคม 2024 72 Views

ผู้แทนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ Government Foresight Community (GFC) ครั้งที่ 11 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD)  ระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2567 โดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

OECD GFC ภายใต้การดำเนินงานของ Strategic Foresight Unit, Office of the Secretary-General เป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) จากหลายหน่วยงานทั่วโลก มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการคาดการณ์ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อการจัดการกับความท้าทายและความเสี่ยงในอนาคต เช่น ด้านเทคโนโลยี ภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยในการประชุมครั้งนี้ ดร.สุรชัย ได้รับเชิญให้เป็นผู้นำเสนอหลักของการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อ Overcoming Barriers: Integrating Foresight into Long-Term Strategy – Global and Regional Insights & Challenges วาระการประชุม Community exchange และ ดร.สุรชัย ได้กล่าวว่าประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของ Foresight มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 และมีภารกิจในการสร้างศักยภาพด้าน Foresight รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการประยุกต์ใช้ Foresight กับการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว

ดร.สุรชัย ได้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยและภูมิภาค APEC ในการบูรณาการเครื่องมือ Foresight เข้ากับแผนกลยุทธ์ระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย การใช้เครื่องมือวิเคราะห์เชิงชั้นสาเหตุ (Causal Layered Analysis – CLA) เพื่อสำรวจรากของปัญหา และการวางแผนฉากทัศน์แบบ Mont Fleur ในโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การใช้เครื่องมือสำรวจแบบ Delphi เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ในการดำเนินโครงการ APEC STI Strategic Foresight เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ของกลุ่มประเทศ APEC และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้ม STEEP เพื่อประเมินปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสำหรับเศรษฐกิจไฮโดรเจน ในการดำเนินโครงการ APEC Energy Transition Towards Net-Zero: Foresight Scenarios and Policy Impact ทั้งนี้ ดร.สุรชัย ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อออกแบบนโยบายและแผนที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงกลยุทธ์และนโยบายระดับชาติของกลุ่มภูมิภาค APEC อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องล่าสุด