messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เผยวิสัยทัศน์และการดำเนินการด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 ตั้งเป้าสร้างความเข้มแข็งระบบนิเวศในประเทศ

กระทรวง อว. โดย สอวช. เผยวิสัยทัศน์และการดำเนินการด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 ตั้งเป้าสร้างความเข้มแข็งระบบนิเวศในประเทศ

วันที่เผยแพร่ 13 พฤศจิกายน 2024 96 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 (The 125th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ระหว่าง 6 – 8 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสำนักงานใหญ่ของ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 ( The 125th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ในวาระเรื่องแนวทางการดำเนินการและขั้นตอนต่อไปของแผนงานการปฏิรูปนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อการเปลี่ยนแปลง (OECD Agenda for Transformative Science, Technology, and Innovation Policies) ดร.สุรชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงโดยขอบคุณทีมวิจัยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Directorate for Science, Technology and Innovation (DSTI) ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีโอกาสในการนำร่องแผนงานดังกล่าวในการดำเนินโครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ OECD ระยะที่สอง (Thailand – OECD Country Programme Phase II) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และการดำเนินการของประเทศด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) อาทิ การจัดตั้งภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) การจัดทำร่างแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ในระยะเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573) เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและเป้าหมายในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยและระดับภูมิภาค แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ

สำหรับประเด็นเรื่องบทบาทของ Strategic Intelligence ในแผนงานและงบประมาณ (ปี ค.ศ. 2025 – 2026) ของคณะกรรมการฯ นางสาววิภาพร ได้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการคาดการณ์อนาคตซึ่งประเทศให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ซึ่งตั้งอยู่ที่ สอวช. มีภารกิจในการให้คำปรึกษาและสร้างศักยภาพด้านการคาดการณ์อนาคตทั้งแก่ภาครัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาได้บูรณาการเครื่องมือคาดการณ์อนาคต (Foresight Tools) ต่าง ๆ ในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับโครงการต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและภายใต้ APEC รวมถึงการที่ สอวช. เข้าร่วม OECD – Government Foresight Community (GFC) ถูกจัดขึ้นโดย OECD อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ดร.สุรชัย และนางสาววิภาพร ได้เข้าร่วมการประชุมย่อยอื่น ๆ อาทิ การประชุมร่วมกับทีมวิจัยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ภายใต้ DSTI เพื่อหารือความก้าวหน้าและแผนการดำเนินโครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ภายใต้ Thailand – OECD Country Programme Phase II การประชุมกับทีมประเมิน (Accession Team) ในฐานะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Process) ของ OECD  โดยเน้นประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ประเทศต้องดำเนินการเพื่อผ่านหลักเกณฑ์ประเมินฯ ของคณะกรรมการฯ และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการรวบรวมข้อมูลสำหรับแบบสำรวจ European Commission (EC) – OECD Science, Technology and Innovation Policy (STIP) Survey เพื่อแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass

เรื่องล่าสุด