messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ถอดบทเรียนนวัตกรรมการอุดมศึกษา จากการนำร่อง 6 หลักสูตร Higher Education Sandbox

ถอดบทเรียนนวัตกรรมการอุดมศึกษา จากการนำร่อง 6 หลักสูตร Higher Education Sandbox

วันที่เผยแพร่ 20 พฤศจิกายน 2024 362 Views

📖 ถอดบทเรียนนวัตกรรมการอุดมศึกษา จากการนำร่อง 6 หลักสูตร Higher Education Sandbox

กลไกสำคัญในการยกระดับการเรียนรู้ของไทย ให้ตรงตามความต้องการตลาดแรงงานแห่งอนาคต 🎓✨

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไว การศึกษาไทยก็ต้องเปลี่ยนตามให้ทัน! จากโครงการ Higher Education Sandbox ที่ สอวช. ร่วมกับ สป.อว. ได้ริเริ่มพัฒนากลไกรองรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาและได้มีการนำร่องหลักสูตร Sandbox ในปีการศึกษา 2566 ไปแล้วจำนวน 6 หลักสูตร นำมาสู่การถอดบทเรียน 6 นวัตกรรมการอุดมศึกษา ที่บอกเลยว่าแต่ละนวัตกรรมตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและผู้ประกอบการแบบเต็ม ๆ ดังนี้

💡1. การจัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้นตลอดการจัดการศึกษา (Intensive Co-creation)

โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรและสมรรถนะของบัณฑิต จัดการเรียนรู้และประเมินผล ไปจนถึงการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในหน่วยงานและการจ้างงานหลังจบการศึกษา ซึ่งนวัตกรรมการศึกษารูปแบบนี้จะช่วยให้บัณฑิตพร้อมเข้าสู่การทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ ผู้ใช้บัณฑิตสามารถสะท้อนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะได้ตลอดการจัดการศึกษา และสถาบันการอุดมศึกษาเองสามารถปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้และเนื้อหาให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด

💡2. การจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ (Co-education with International Collaboration)

โดยเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาต่างประเทศกับสถาบันอุดมศึกษาไทยโดยไม่จำกัดด้วยมาตรฐานการศึกษาเดิม มีผู้สอนที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงระดับโลกมาสอนและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาโดยตรง ซึ่งนวัตกรรมการศึกษารูปแบบนี้จะช่วยสร้างบัณฑิตที่เป็น Global Citizen ขณะเดียวกันอาจารย์ชาวไทยยังได้เรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาอีกด้วย

💡3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา (University Consortium)

โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งรายอุตสาหกรรม/สาขาความเชี่ยวชาญ เกิดการแบ่งปันทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการฝึกปฏิบัติการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายเอกชน เป็นต้น และยังเกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ตอบโจทย์เฉพาะในอุตสาหกรรม/สาขานั้นโดยเฉพาะอีกด้วย

💡4. นวัตกรรมการคิดผลสัมฤทธิ์ที่ไม่ได้วัดโดยใช้ระยะเวลา (Flexible Time)

เน้นการวัดผลจากสมรรถนะหรือความสามารถมากกว่าการยึดติดกับระยะเวลาเรียน ทำให้เกิดการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเกิดสมรรถนะหรือความสามารถนั้นๆ ได้มากขึ้น เช่น จัดการเรียนรู้ในรูปแบบโมดูลที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมรรถนะตามที่กำหนด เรียนออนไลน์ร่วมกับการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ การทำโครงงานร่วมกับการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ เป็นต้น ซึ่งทำให้ช่วยลดระยะเวลาการศึกษาและทำให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่ชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น

💡5. รูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Flexible Model for Lifelong Learning)

ออกแบบให้เปิดกว้างในการรองรับผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่คนทำงานที่มีประสบการณ์ คนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน นักศึกษาที่กำลังเรียนในสาขาใกล้เคียงที่ต้องการเปลี่ยนสาขา เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ร่วมกับฝึกปฏิบัติในบางช่วงเวลา การเรียนรู้ด้วยตนเอง การฝึกอบรมระยะสั้นที่มีการรับรองสมรรถนะที่ชัดเจน (Certificate) และที่น่าสนใจคือเป็นรูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสามารถสะสมหน่วยกิตไว้ก่อนเมื่อครบตามเงื่อนไขก็สามารถเทียบโอนเพื่อรับปริญญาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้ตลอดชีวิตเพื่อตอบสนองในโลกแห่งอนาคต โดยสามารถวางแผนการเรียนให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับเป้าหมายและเงื่อนไขของแต่ละบุคคลได้โดยไม่กระทบภาระส่วนตัวหรือการทำงาน

💡6. การใช้เทคโนโลยีในการจัดการศึกษาและบริหารจัดการ (Technology for Learning and Management) ด้านการจัดการศึกษา เช่น การเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเรียนแบบไฮบริด (Hybrid) การเรียนรู้รายวิชาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย เป็นต้น ด้านการบริหารจัดการหลักสูตร เพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดการศึกษา อาทิ การติดตามผลการเรียนรู้และออกแบบแผนการเรียนรู้ของนักศึกษารายบุคคล การให้คำปรึกษาระหว่างพี่เลี้ยงกับนักศึกษา การจับคู่นักศึกษากับตำแหน่งการฝึกงาน ระบบช่วยตัดเกรดให้กับผู้สอน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้บนทรัพยากรที่จำกัด เกิดการดูแลนักศึกษาได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของแต่ละบุคคล และเอื้อต่อการขยายห้องเรียนและความยั่งยืนของหลักสูตรในอนาคต

โดยทั้ง 6 นวัตกรรมข้างต้น ได้ถอดบทเรียนมาจาก 6 หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ที่เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2566 ประกอบด้วย หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur (Harbour.Space) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย / หลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และมหาวิทยาลัยเครือข่าย / หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา / หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาผู้นำธุรกิจสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะช่วยให้การอุดมศึกษาไทยก้าวทันโลก

ที่มา : “รายงานการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) : ถอดบทเรียนนวัตกรรมการอุดมศึกษา และข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนเชิงนโยบาย”

เรื่องล่าสุด