กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD)” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมประภา ประจักษ์ศุภนิติ (AD-907) ชั้น 9 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ ผู้แทนจาก สอวช. ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาเรื่อง บทบาทของภาครัฐต่อการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการประกาศรับข้อเสนอโครงการ “การพัฒนากำลังคน” ด้าน EV-HRD จากภาคการศึกษาวิจัย
การจัดงานเสวนาครั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาบุคลากร และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หน่วยงานภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยบูรพา และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย บริษัท 24เอ็ม เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อีซียู ช็อป 1 จำกัด เป็นต้น เข้าร่วมกว่า 22 หน่วยงาน เป็นจำนวนกว่า 80 คน โดยการเสวนา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. การเสวนาเรื่องบทบาทของภาครัฐต่อการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า 2. การเสวนาเรื่องความต้องการกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ 3. การเสวนาเรื่องการประกาศรับข้อเสนอโครงการ “การพัฒนากำลังคน” ด้าน EV-HRD จากภาคการศึกษาวิจัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงที่ 1 การเสวนาเรื่องบทบาทของภาครัฐต่อการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า
รศ.ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวเปิดการเสวนา และได้ให้ข้อมูลว่า การพัฒนากำลังคนในยุคที่เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมาก เช่น เทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการพัฒนาด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากรด้าน Upskill, Reskill, และ Newskill นอกจากนี้ การพัฒนาคณาจารย์ผ่านการสนับสนุนการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนงานวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่พร้อมสำหรับการเรียนการสอน โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาห้องทดลองและงานวิจัย ทุกภาคส่วนจะใช้ประโยชน์จากงานเสวนาครั้งนี้ในการระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยทางมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะร่วมมือ ทั้งในด้านการผลิตบุคลากรและการสนับสนุนการวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ
ดร.ธนาคาร ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี
แต่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะใหม่หลากหลายด้าน เช่น การออกแบบและผลิตฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบอัดประจุไฟฟ้า (Charging System Infrastructure) และการจัดการแบตเตอรี่หลังหมดอายุการใช้งาน (Second-life Battery Management) เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการให้ 30% ของยานยนต์ทั้งหมดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2030 หรือเป้าหมาย 30@30
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้สนับสนุนการดำเนินการผลักดันผ่านนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD), การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Transformation), และการสร้างนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV- Innovation) และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยแนวทางสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ได้แก่ การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา และบริษัทเอกชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในวิทยาลัยอาชีวศึกษากว่า 51 แห่งทั่วประเทศ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทต่างประเทศ รวมถึงมีการออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น มาตรการ Thailand Plus Package เพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่ส่งพนักงานเข้าฝึกอบรม หรือการจัดตั้ง STEMPlus Platform ที่ช่วยจับคู่ระหว่างผู้เรียนกับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และการพัฒนาทักษะบุคลากรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายผลิตบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 150,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี และยกระดับปรับปรุงทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5,000 คนต่อปี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
นางสาวศุธาศินี สมิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และเเผนงาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายเเละเเผนระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ให้ข้อมูลว่า BOI มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านมาตรการและสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งการยกเว้นภาษี การสนับสนุนการจัดตั้งสถานฝึกอบรม และการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Recycle Battery) นอกจากนี้ BOI ยังร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ในการพัฒนามาตรการกระตุ้นความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าผ่านเงินอุดหนุนการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการจูงใจนักลงทุนและผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับการพัฒนาบุคลากร BOI มีกลไกสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ลงทุนในการพัฒนาบุคลากร เช่น การจัดตั้งสถานฝึกอบรมหรือการสร้างหลักสูตรอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อพัฒนาความสามารถแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ. ได้ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัย MOVE มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์แห่งอนาคต Connected, Autonomous, Shared, and Electric Vehicles (CASE) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านการขนส่ง และมีพันธกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับภาคอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ การยกระดับห้องปฏิบัติการวิจัยให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ และการบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนเพื่อสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมในประเทศ โดยศูนย์มีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านพลังงานและการออกแบบยานยนต์ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อเตรียมพร้อมกับความท้าทายในการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงการเตรียมบุคลากรให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านนี้
รศ.ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ให้ข้อมูลถึง บทบาทของสถาบันการศึกษา สำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยกระทรวง อว. ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 150,000 คนในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้เริ่มดำเนินการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Short course) หลักสูตรระดับปริญญา (Degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยความสำเร็จที่ผ่านมาคือ การพัฒนาหลักสูตร Upskill, Reskill และ Newskill ที่มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรภาคอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) แบตเตอรี่ (Battey) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยมีการวางแผนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์พลังงานใหม่ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในระยะยาว โดยครอบคลุมเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าสำหรับอนาคต เช่น พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ยินดีที่จะร่วมพัฒนาโครงการเพื่อผลิตบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับหน่วยงานอื่นที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน ผ่านการจัดตั้งเป็นกลุ่มความร่วมมือ (Consortium)
นายธีรศักดิ์ อยู่เพชร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ข้อมูลว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผ่านเครือข่ายสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง ซึ่งความท้าทายที่พบคือ ปัจจุบันแรงงานขาดทักษะเฉพาะด้าน เช่น ทักษะการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger Station) และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Maintenance) และทักษะด้านความปลอดภัยและความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้วางแนวทางการพัฒนาแรงงานที่ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แรงงานในสถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และแรงงานใหม่ที่เข้าสู่อุตสาหกรรม ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมทั้งในรูปแบบ Reskill, Upskill และ Newskill พร้อมทั้งจัดหาชุดฝึกอบรมเฉพาะทาง อาทิ ชุดคิทฝึกอบรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Kit) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น โรงงาน Smart Factory และศูนย์บริการยานยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องการทักษะเชิงเทคนิคขั้นสูง เช่น PLC, Automation, และ IoT เพื่อเพิ่มทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ช่วงที่ 2 การเสวนาเรื่องความต้องการกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)ได้ให้ข้อมูลถึงโอกาสและความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยที่ไม่ได้มุ่งขายเฉพาะภายในประเทศ แต่ตั้งเป้าหมายในส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและยุโรป ซึ่งไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยมีสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยคิดเป็น 78% ของอาเซียน สะท้อนถึงศักยภาพของตลาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ต้องพึ่งพาการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง การสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยควรมีการตั้งเป้าหมายระยะยาวคือ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอาเซียน ซึ่งต้องมีการผลิตชิ้นส่วนและใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากที่สุด และยังกล่าวถึง โอกาสในธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งกล่าวถึง ผู้ประกอบการชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์สันดาป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตภายในประเทศ
การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ได้เป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมภายในประเทศทั้งหมด แต่มองว่าเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยที่ครอบคลุมหลากหลายเทคโนโลยีมากขึ้น
ดร.อติชาติ โรจนกร นักพัฒนาธุรกิจ บริษัท 24เอ็ม เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหลักในต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและโรงงานต้นแบบในประเทศไทย ขนาด 30 MWh เพื่อพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง บริษัทตั้งเป้าหมายระยะสั้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียน โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และความพร้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป้าหมายระยะยาวบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาแบตเตอรี่อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการทั้งด้านประสิทธิภาพสูง ความปลอดภัยสูง ราคาเข้าถึงได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาบุคลากร บริษัทมีการรับสมัครบุคลากรระดับปริญญาเอก เข้าร่วมในสายงานด้านวิจัยและพัฒนา เนื่องจากเป็นงานที่ต้องการทักษะวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากนี้ ยังต้องการวิศวกรในสาขาต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronic) และวัสดุศาสตร์ (Materials Science) เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตในระบบอัตโนมัติ (Autonomous Manufacturing Process) อย่างไรก็ตาม บริษัทขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากบุคลากรที่มีทักษะสูงมีการย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศ บริษัทจึงมีการสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจครอบคลุมด้านค่าตอบแทน การเติบโตในอาชีพ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในระดับปฏิบัติการ เช่น ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยมีการส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดนอกกรอบ ซึ่งคนไทยสามารถทำได้ดี และการเรียนรู้ภาษาที่สาม หรือภาษาอังกฤษ เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ระดับโลก
นายพลพจน์ วรรณภิญโญชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซียู ช็อป1 จำกัด ได้ให้ข้อมูลถึง แนวโน้มการเติบโต ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์ควบคุม (Controller) และซอฟต์แวร์ (Software) ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับยานยนต์ดัดแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่และระบบความปลอดภัยขั้นสูง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเทศไทยคือ การสร้างการยอมรับในระดับสากล เพื่อให้การขยายตัวของตลาดในประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศ สำหรับการพัฒนาบุคลากร บริษัทให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม (Programmer) วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และการออกแบบ เช่น Human Machine Interface (HMI), User Experience (UX) และ User Interface (UI) โดยบริษัทเปิดรับผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. หรือแม้แต่ผู้ไม่จบการศึกษา หากมีความตั้งใจ ความกระตือรือร้น ความอดทน และความสม่ำเสมอ ก็สามารถสมัครเข้าทำงานได้ อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญคือ การย้ายงานของบุคลากรที่พัฒนาจนมีทักษะสูงออกไปทำงานที่อื่น และความท้าทายในการปรับตัวกับโจทย์การทำงานที่มีความยากมากขึ้น ซึ่งงานที่ต้องใช้ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นต้องฝึกฝนเพิ่มเติม เพื่อให้พนักงานบุคลากรเข้าใจงานในเชิงลึก และอยากให้เด็กรู้ว่าการพัฒนาความรู้ในทักษะใหม่ แม้ว่าจะมีความยากและต้องใช้ความอดทน แต่ก็คุ้มค่ากับความพยายามที่จะต้องทุ่มเทและผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต เพื่อยกระดับทักษะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยี เช่น การสื่อสารในระบบยานยนต์ Controller Area Network Protocal (CAN-protocal) ซึ่งจะช่วยสร้างความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้
นายปริพัตร บูรณสิน นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) ได้ให้ข้อมูลถึง ความสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV-Conversion) ในบริบทของประเทศไทย ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อมูลค่ายานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ตลาดอะไหล่ ตลาดรถมือสอง และประกันภัย ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และความสำคัญของแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าที่มีสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 40% ของต้นทุน อย่างไรก็ตาม การผลิตแบตเตอรี่ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการใช้งานในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Device) ยุทโธปกรณ์ทางการทหาร (Military) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) หุ่นยนต์ (Robotics) การขนส่งทางทะเล (Marine) และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (2-wheeled Vehicle) เป็นต้น การใช้งานแบตเตอรี่ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มอุตสาหกรรม ต้องใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากรที่ครอบคลุมความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน
ช่วงที่ 3 การเสวนาเรื่องการประกาศรับข้อเสนอโครงการ “การพัฒนากำลังคน” ด้าน EV-HRD จากภาคการศึกษาวิจัย
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาบุคลากร และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้ให้ข้อมูลถึง โครงสร้างและบทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของหน่วย บพค. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการทุนในประเทศ โดย บพค. ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เช่น Quantum Technology, High-Energy Physics เป็นต้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและด้านยานยนต์ไฟฟ้า และยังมุ่งเน้นสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีสมรรถนะและทักษะที่เพียงพอสำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption) นอกจากนี้ บพค. ยังมีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. เช่น “อว. For EV” และ “อว. For Semiconductor” ที่ตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี ด้วยบทบาทดังกล่าว บพค. จึงไม่ได้ทำเพียงแค่จัดสรรทุนวิจัย แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปสู่อนาคตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง พร้อมสร้างระบบสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร
ดร.ธนาคาร ได้ให้ข้อมูลถึงบทบาทของกระทรวง อว. เรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเป้าหมายผลิตบุคลากร 150,000 คนในระยะเวลา 5 ปี โดยเน้นการยกระดับทักษะบุคลากรเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป เฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 คนต่อปี และการเพิ่มศักยภาพผู้จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จำนวน 5,000 ต่อปี โดย สอวช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. ในการเป็นศูนย์กลาง (Node) ในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนากำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) และสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยบริหารจัดการทุน กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน สอวช. อยู่ระหว่างการร่างข้อเสนอโครงการด้านการพัฒนากำลังคนและเปิดรับหน่วยงานที่ต้องการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเสนอโครงการต่อ บพค. เพื่อให้เกิดการดำเนินงานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตรการพัฒนากำลังคนในกลุ่มต่าง ๆ สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของ BOI เพื่อจูงใจให้กับบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ และแพลตฟอร์มเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะเพื่อให้ได้ใบรับรอง เช่น การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเตรียมความพร้อมของประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ขอบคุณรูปภาพข่าว จาก มจธ.