messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ดร.สุรชัย” ผู้อำนวยการ สอวช. ภายใต้ กระทรวง อว. เป็นผู้แทนประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ร่วมอภิปรายในเวทีผู้นำระดับสูงของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในกิจกรรมคู่ขนานของ UNFCCCภายใต้การประชุม COP29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

“ดร.สุรชัย” ผู้อำนวยการ สอวช. ภายใต้ กระทรวง อว. เป็นผู้แทนประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ร่วมอภิปรายในเวทีผู้นำระดับสูงของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในกิจกรรมคู่ขนานของ UNFCCCภายใต้การประชุม COP29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

วันที่เผยแพร่ 30 พฤศจิกายน 2024 202 Views

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) ได้รับเชิญในฐานะหัวหน้าหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศไทย (National Designated Entity Thailand: NDE Thailand) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เข้าร่วมการประชุมเสวนาและอภิปราย ในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) จัดโดย Technology Executive Committee (TEC), UNFCCC ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ในวัน Technology Day on Transformative Industry ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ในหัวข้อ “Technology and Policy Options for Decarbonizing the Steel and Cement Industries” เพื่อนำเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเหล็กและปูนซีเมนต์ ตอบรับสถานการณ์ภาวะโลกเดือดและสนับสนุน NDCs (National Determined Contribution) ของประเทศไทย พร้อมผลักดันความร่วมมือระดับโลก ด้วยกลไกเทคโนโลยีโดยใช้บทบาท NDE

วัตถุประสงค์ของงาน Technology Day on Transformative Industry เป็นเวทีสื่อสารให้ข้อมูลแก่ประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนโยบายสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความยากลำบากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (hard-to-abate industries) ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ เคมีและปิโตรเคมี ทั้งนี้ จากข้อมูล IEA’s flagship World Energy Outlook, 2024 พบว่าในภาพรวมระดับโลกทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานมากถึง 60% จากการใช้พลังงานทั้งหมด (Industrial Energy Consumption) รวมถึงมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 70% (Sector Emission) และสาระสำคัญของการอภิปรายคือการนำเสนอทางเลือกนโยบายและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรม พันธมิตรระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงแนวทางพัฒนานวัตกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การใช้ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

ดร.สุรชัย ได้ให้ความเห็นและร่วมอภิปรายกับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากหลายภาคส่วน อาทิ Ms. Åsa Ekdahl หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) Mr. Thomas Guillot ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก (CEO, Global Cement and Concrete Association) Mr. Vaibhav Chaturvedi นักวิชาการอาวุโส สภาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และน้ำ (Senior Fellow, Council on Energy, Environment and Water) และ Ms. Orly Jacob ผู้แทนจาก UNFCCC National Designated Entity for Technology development and transfer of Canada (NDE, Canada) โดย Ms. Elfriede-Anna More หัวหน้าส่วนกิจการระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน (Head of Department – International Climate, Environment and Energy Affair, Federal Ministry for Climate Action, Environment, Energy, Mobility, Innovation and Technology) เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ ได้นำเสนอในประเด็นการริเริ่มนโยบายสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ สอวช. ได้มีส่วนร่วมดำเนินการและมีความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งในภารกิจงานที่ สอวช. ขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนการบูรณาการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าร่วมดำเนินการกับอุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (hard-to-abate industries)

เรื่องล่าสุด