ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมงานเสวนากิจกรรมคู่ขนาน โดยความร่วมมือระหว่างโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ภายใต้ประเด็น “Strengthening National Systems of Innovation for Collaborative RD&D on Climate Technology” ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ณ Greece Pavilion
ในงานเสวนาได้นำเสนอถึงภาพรวมการพัฒนาและส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National systems of innovation: NSI) และยกระดับการวิจัย พัฒนาและต้นแบบ (Research, Development and Demonstration: RD&D) ในประเทศไทย โดยในปัจจุบันได้มีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นหน่วยขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์และนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติ ผ่านกองทุน ววน. ส่งผลให้เป็นการดำเนินการเชิงระบบ ทั้งมิติประเด็นที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศและการดำเนินงานสอดรับตลอดห่วงโซ่ของการวิจัยและพัฒนา จากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้องค์ความรู้จากระบบนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตามที่ออกแบบ
โดยการเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นการเสนอการดำเนินงานของประเทศไทยโดย สอวช. เป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์และนโยบายที่ครอบคลุมด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และเป็นแกนหลักที่สนับสนุนและการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (NSI) เน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภายในและภายนอก กระทรวง อว. และ สอวช. ในฐานะเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity Thailand: NDE Thailand) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้มีการเชื่อมงานของ NSI กับการใช้บทบาท NDE Thailand นี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ได้เสนอข้อมูลผลการศึกษาโครงการ “Development of National Hydrogen Strategy and Action Plan for Accelerating Thailand’s Net-Zero Target” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก CTCN และดำเนินการศึกษาโดย National Institute of Green Technology (NIGT) สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เชื่อมต่อกับมิติยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทยด้านไฮโดรเจนสีเขียว รวมถึงกำลังริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและศาสตราจารย์ในประเทศไทยและสถาบันวิจัยพลังงานแห่งเกาหลี (KIER) ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวด้วย