กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายเอกชนโดย UNFORMAT STUDIO และ REALBANGKOK จัดงาน “Virtual Production & Cartoon Design Showcase และการเสวนาการพัฒนาอุตสาหกรรม Creative Content ของประเทศไทย” ภายใต้ “โครงการพัฒนากลไก อววน. เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม Creative Content และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย” ณ อาคารศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovation Learning Center, ILC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับงาน Chiang Mai Design Week 2024
โดย ดร.มหัทธน พฤทธิ์ขจรชัย ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายพัฒนาคลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ สอวช. ได้รับเชิญให้ร่วมการเสวนา “การพัฒนาอุตสาหกรรม Creative Content ของประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายวัฒนธรรมสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลและทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม Creative Content ของ สอวช. โดยมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนากำลังคนการวิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ Creative Content ซึ่งจะช่วยในการพัฒนานักสร้างสรรค์ของไทยให้ไปสู่ระดับสากล
ซึ่งงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ประธานกรรมการกำกับโครงการพัฒนากลไก อววน. เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม Creative Content และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย) ร่วมเยี่ยมชมตัวอย่างผลงาน Virtual Production และ Cartoon Design จากโครงการฯ และพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและต่อยอดโครงการฯ ร่วมกับภาคเอกชน
โครงการพัฒนากลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุน อุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ ที่จะพัฒนานำร่องกลไก Creative Content Accelerate Program เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตสื่อสมัยใหม่อย่าง Virtual Production และ Cartoon Design ให้แก่นักสร้างสรรค์ของไทย ใช้ในการพัฒนาเป็นสื่อสร้างสรรค์อย่างภาพยนต์สั้น คลิปวีดีโอ ก่อนจะเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะต่อไป
ขอบคุณภาพจาก CAMT