กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Women in STEM: Study and Exchange on Rewards, Incentives and Policies to Promote Innovation Development in the APEC Region” ระหว่างวันที่ 12 – 13 ธันวาคม 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดโดย Beijing Academy of Science and Technology ภายใต้การสนับสนุนของ Asia-Pacific Economy Cooperation (APEC)
การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและครอบคลุมการทำงานของ “ผู้หญิง” โดยเฉพาะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation: STI) พร้อมทั้งกระตุ้นศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาค โดยมุ่งศึกษาแนวทางการสร้างแรงจูงใจทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology Engineering and Mathematics: STEM) รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับมาตรการในการขับเคลื่อนความสำเร็จด้าน STI
ในโอกาสนี้ นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. ได้นำเสนอมาตรการจากภาครัฐของประเทศไทยที่สนับสนุนบทบาทผู้หญิงในระบบแรงงานไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนากำลังคนด้าน STI เช่น มาตรการ Thailand Plus Package และมาตรการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) ที่ครอบคลุมการพัฒนาทักษะและการจ้างงานบุคลากรหญิงในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้าน STI ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ
นอกจากนี้ ดร.สุธิดา พิริยะการสกุล ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Women in STEM: Empowering the Future” ในช่วงเสวนา Opportunities and Challenges of Practice of Outstanding Young Women STEM Workers ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในสาย STI ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงวัยทำงาน โดยกระทรวง อว. มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น “Women Made: Girl in STEM” เพื่อดึงดูดความสนใจและบ่มเพาะทักษะด้าน STEM ให้กับเยาวชนหญิง การสนับสนุนการศึกษาและสร้างเครือข่ายการวิจัยในสาย STEM พร้อมทั้งมอบรางวัลนักวิจัยหญิงดีเด่นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยก้าวสู่สายอาชีพด้าน STEM ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทยในอนาคต นอกจากนี้ กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้แสดงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับความสามารถของผู้หญิงในการขับเคลื่อน STI ในภูมิภาคอีกด้วย สอวช. แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางเพศผ่านการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกในสาย STI เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล