messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ตั้ง 6 ผู้ทรงคุณวุฒิ นั่งบอร์ด กอวช. ชุดใหม่ “ศุภมาส” เป็นประธานประชุมนัดแรก ด้าน สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน นำเสนอผลงานประจำปี 2567 มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ตั้ง 6 ผู้ทรงคุณวุฒิ นั่งบอร์ด กอวช. ชุดใหม่ “ศุภมาส” เป็นประธานประชุมนัดแรก ด้าน สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน นำเสนอผลงานประจำปี 2567 มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

วันที่เผยแพร่ 21 ธันวาคม 2024 37 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า (โยธี) กระทรวง อว. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม และมีประเด็นนำเสนอสำคัญต่อที่ประชุมคือ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ชุดใหม่ และการรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของ สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม เรื่องการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ชุดใหม่ ตามคำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ 4/2567 ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย 2. ศาสตราจารย์ (วิจัย) ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต 3.รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม 4. นายนฤตม์ เทิดสถิรศักดิ์ 5.นายชนะภูมี และ 6. นายธีระวัฒน์ ลิมปิบันเทิง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2567 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

จากนั้น ดร.สุรชัย ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สอวช. ในปีงบประมาณ 2567 ว่า สอวช. ได้ออกแบบนโยบายและกลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศเพื่อยกระดับไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ มีเป้าหมายสำคัญคือ ยกระดับธุรกิจนวัตกรรม ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม 1,000 ล้าน 1,000 ราย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. 1 ล้านคน สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงขึ้นเป็น 25% ให้ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว

ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมา สอวช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1. ยกระดับประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยการสร้างแพลตฟอร์มยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการสเกลอัพสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 2. เตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยลดระยะเวลาเข้าสู่ตลาดของ Future Food นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม 500,000 ล้านบาทในปี 2570 และได้สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ พร้อมโปรแกรมการเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนมูลค่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานและการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV-Conversion) นำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อเป็น EV hub ของโลก โดย สอวช. เป็นประธานขับเคลื่อนจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และได้ร่วมก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทยด้วย

3. นโยบายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยจัดทำโจทย์วิจัยสำหรับพื้นที่สูง เพื่อบรรจุในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งพัฒนา Social Enterprise Incubation Platform เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และยังได้จัดทำกลไกนวัตกรรมการศึกษา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา 4. นโยบายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการสร้างระบบนิเวศส่งเสริมกลไก อววน. มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 1 พื้นที่นำร่องของประเทศไทย และสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุน 50 มหาวิทยาลัย สู่เป้าหมาย Net Zero 

5. เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% โดยสร้างแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง สนับสนุนการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนใช้มาตรการ Thailand Plus Package พันฒนาทักษะแรงงาน STEM 10,189 ตำแหน่ง จาก 186 บริษัท และได้ผลิตหลักสูตร STEM 1,157 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม พ.ศ. 2568 – 2572 6. University Transformation เกิดต้นแบบการผลิตคนสมรรถนะสูง ผ่านกลไก Higher Education Sandbox ร่วมกับเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และทดลองผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการในระยะเร่งด่วน โดยปัจจุบันมีหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์รวม 16 หลักสูตร ตั้งเป้าหมายการผลิตกำลังคน 26,045 คน และ 7. เพิ่มประสิทธิภาพระบบ อววน. จากระบบการจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์การวิจัยตามพันธกิจและเป้าประสงค์ของแต่ละกระทรวง เกิดแนวนโยบายบูรณาการ การนำเข้าและเชื่อมโยงข้อมูลด้าน อววน. เพื่อความเป็นเอกภาพของข้อมูลระบบ อววน. แบบไร้รอยต่อ

ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดทำข้อริเริ่มเชิงนโยบาย โดยนำ อววน. เข้าสนับสนุนเป้าหมายระดับชาติ ได้แก่ 1. การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. เตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3. นโยบายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 4. ระบบนิเวศส่งเสริมกลไก อววน. มุ่งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) 5. พัฒนาแพลตฟอร์มบูรณาการมาตรการและกลไกสนับสนุนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และ 6. ปรับระบบการอุดมศึกษาให้เพิ่มคุณภาพชีวิตบัณฑิต

ด้านหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ก็ได้นำเสนอผลงาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ด้วยเช่นเดียวกัน โดย บพค. ได้นำเสนอถึงการสนับสนุนทุนตลอดปีงบประมาณ 2567 จำนวน 965.32 ล้านบาท ให้กับ 46 หน่วยงาน โดยมีผลงานเด่น ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูง

ด้าน บพท. นำเสนอผลงานการยกระดับฐานะทางสังคมด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (PPAP) โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้จัดทำแพลตฟอร์ม Local Enterprises เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบอาชีพ เกิดการพัฒนาและยกระดับ “คน ของ และตลาด” ในส่วนของ บพข. ปีงบประมาณ 2567 สามารถยกระดับนวัตกรรมพร้อมเข้าสู่เชิงพาณิชย์ 185 รายการ ยกระดับผู้ประกอบการ 133 ราย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานวิจัยตามมาตรฐานสากล 123 รายการ สร้างกำลังคนทักษะสูง 833 คน เพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง 8,049 คน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 4,800 ล้านบาท

เรื่องล่าสุด