(23 ธันวาคม 2567) เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP) ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และพันธมิตร จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “SCP Implementation through Decarbonization and Multistakeholder Partnership” ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมบรรยาย ในหัวข้อ “Global & Regional Movement on Green Technology and Innovation”
ดร.สุรชัย กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะในมุม Green เน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล Clean ลดการปล่อยมลพิษ เน้นการใช้เทคโนโลยีสะอาด รวมถึง Climate เน้นที่ Climate response ทั้งในมิติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และ การปรับตัว (Adaptation) จากข้อมูลของ The State of Climate Tech 2020 ที่เก็บข้อมูลภาพรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยีภูมิอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ภูมิภาคที่ลงทุนเรื่องนี้เป็นจำนวนมากคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย ในขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันและเชื่อมโยงกันในระดับนานาชาติด้วย
ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาระบบนิเวศเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งการทำงานของ สอวช. เน้นการออกแบบการทำงานแบบ Triple Helix หรือความร่วมมือแบบไตรภาคี และนำไปสู่การออกแบบ “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ National Innovation System: NIS ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วนหลักคือ ภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม ในบทบาทผู้นำและผู้ใช้เทคโนโลยี ภาควิชาการ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของรัฐ บทบาทการทำงานด้านวิชาการ และภาครัฐบาล ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator ในการช่วยสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน และต้องมีการทำงานกับนานาชาติร่วมด้วย
ในส่วนของการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมุ่งเน้นในการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในขณะเดียวกันก็ต้องมองไปถึงโอกาสของการใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) รวมถึงการศึกษาเรื่องการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีต่างๆ หรือการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Micro Modular Reactor: MMR) เป็นต้น
ดร.สุรชัย ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ สอวช. ขับเคลื่อนอยู่ จากบทบาทการเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE Thailand) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) อาทิ โครงการแผนที่นำทางการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และโครงการการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Need Assessment: TNA) ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลความต้องการเทคโนโลยีภูมิอากาศของประเทศ เพื่อนำไปสู่การขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและการเงินภายใต้กลไกของ UNFCCC หรือกลไกระดับนานาชาติอื่นๆ ต่อไป ซึ่ง สอวช. ได้รับงบประมาณในการจัดทำ TNA นี้เป็นฉบับที่สอง และเตรียมที่จะเผยแพร่เปิดตัวโครงการในเดือนมกราคม 2568 โดยผลที่ได้จากการทำข้อมูลภายใต้โครงการนี้จะนำไปเชื่อมโยงในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับประเทศด้วยแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และการให้ทุนวิจัย จะเป็นการทำงานร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
“ที่ผ่านมา 10 กว่าปี สอวช. ยังได้เป็นตัวกลางในการเปิดรับข้อเสนอจากหน่วยงานในประเทศที่ขอการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีจาก UNFCCC ผ่านศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network: CTCN) มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่า 10 โครงการ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานอีกหลายโครงการ โดยเราคาดหวังว่าอยากได้งบประมาณขนาดใหญ่จากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) เพื่อนำมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในประเทศ ซึ่ง สอวช. ได้มีความพยายามในการเจรจาเรื่องนี้ในระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการสนับสนุนเงินให้กับกลุ่มที่ทำเรื่องเทคโนโลยีได้โดยตรง จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้เกี่ยวโยงทั้งกับภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ดังนั้นในการดำเนินงานของ สอวช. ก็จะให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายเรื่องนี้ต่อไป” ดร.สุรชัย กล่าวปิดท้าย