(26 ธันวาคม 2567) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วย ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการอุดมศึกษา ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ Global Partnership หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และตัวแทนบุคลากร สอวช. หารือแนวทางความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนากำลังคนระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย ร่วมกับ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย นายปวรวรรฒน์ สิมะสกุล เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา และนายธนชัย ทับทอง นักการทูตชำนาญการ กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ
ที่ประชุมได้หารือแนวทางความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การจัดทำกระบวนการหารือเชิงนโยบาย (policy dialogue) เพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย รูปแบบและหัวข้อความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนากำลังคน และโอกาสขยายความร่วมมือในรูปแบบ Co-funding/Joint funding ระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยและออสเตรเลีย
นางสาวอาจารี ให้ข้อมูลความร่วมมือที่ผ่านมาซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้หารือความร่วมมือแบบ
ทวิภาคี (bilateral) กับประเทศออสเตรเลีย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) และความมั่นคงของมนุษย์ (human security) โดยเน้นความร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัย การสร้างผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมด้านการตลาด
ดร.สุรชัย และที่ประชุมได้หารือแผนการดำเนินการร่วมกัน โดยระยะแรกอาจจัดกระบวนการหารือเชิงนโยบายในหัวข้อ Food for sustainability รวมถึงหัวข้อด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) พลังงานชีวภาพ (bioenergy) เพื่อให้การดำเนินงานในระยะแรกเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม โดย สอวช. ยินดีเป็นผู้ประสานงานในฝั่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรูปแบบความร่วมมือสามารถมีได้หลายรูปแบบ อาทิ Joint research and Co-funding, การแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาบุคลากร, ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในรูปแบบ Consortium และแพลตฟอร์มส่งเสริมการเคลื่อนย้ายกำลังคน (talent mobility) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีการดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันโดย บพค. และในส่วนของประเทศออสเตรเลีย คาดว่าหน่วยงานที่จะร่วมดำเนินการหลักคือ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในออสเตรเลียได้มุ่งเน้นในด้าน Food for sustainability และเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ยังได้เสนอความร่วมมือในรูปแบบใหม่และแนวทางการขยายขอบเขตความร่วมมือ อาทิ การทำงานเชิงลึกร่วมกันในโจทย์เฉพาะตามที่กำหนด ผ่านการมาประจำการชั่วคราวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนากำลังคนของไทย ควบคู่กับการทำให้บุคลากรของประเทศออสเตรเลียมีความเข้าใจในบริบทของไทยมากยิ่งขึ้น และการขยายขอบเขตความร่วมมือในด้านการจัดทำนโยบาย การกำหนดวาระสำคัญในการดำเนินงาน ผ่านกระบวนการคาดการณ์อนาคต (foresight) ร่วมกับหน่วยงานของออสเตรเลียที่มีความเข้มแข็งในด้านนี้ ทั้งนี้ การหารือความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันในเชิงลึก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรร่วมกันต่อไป