หากกล่าวถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีรากฐานและความเข้มแข็งของวิทยาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ระบบสาธารณสุข รวมถึงสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม อาทิ การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคการบริการในวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์ และการขยายตัวของเขตเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต อาทิ การเข้าสู่ Super-aging Society ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ธารน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ไฟป่า ผลผลิตทางเกษตรลดลง การเติบโตของประชากรโลก และรูปแบบการบริโภคของประชากรที่ขยายตัว โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อน วทน. เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต คือ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีความท้าทายหลายประการ อาทิ อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง การยกระดับการศึกษาฐาน วทน. การเปลี่ยนสถานภาพตลาดแรงงานจากการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานอย่างเข้มข้นเป็นมุ่งเน้นการพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบบส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากร วทน. ในภาคเอกชน กลไกบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษ และระบบนิเวศเพื่อยกระดับ วทน. ของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาข้อเสนอทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) เพื่อกำหนดโจทย์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการพัฒนากำลังคน ววน. ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และแผนด้าน ววน. สถานการณ์และเป้าหมายด้านกำลังคน ววน. ความเชื่อมโยงโครงสร้างระบบกำลังคน ววน. และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและพัฒนาบุคลากร ววน. โดยครอบคลุมประเภทกำลังคนตามแผนงานด้าน ววน. 5 ประเภท ได้แก่ นักศึกษาตรี/โท/เอก นักวิจัยหน่วยงานรัฐ หรือนักวิจัยภาคเอกชน และข้อมูลกำลังคน ววน. รายอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ข้อมูลระดับปฐมภูมิด้วยการประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับข้อมูลทุติยภูมิเป็นการศึกษาข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการด้วยการทบทวนรายงานการศึกษาและบทความวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากแหล่งข้อมูลและฐานข้อมูลต่าง ๆ การทบทวนสถานภาพการดำเนินงานจากเอกสารต่าง ๆ เช่น รายงานประจำปีของหน่วยงาน เอกสารแผน ยุทธศาสตร์ รวมถึงการศึกษากรณีตัวอย่างการผลิตและพัฒนาบุคลากร ววน. ทั้งในและต่างประเทศจากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บไซต์หน่วยงาน รายงานการศึกษา บทความวิจัย
จากการศึกษาวิจัยข้างต้นนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) เพื่อกำหนดโจทย์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการพัฒนากำลังคน ววน. โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มจำนวน Tech Innovator เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศ และสร้างธุรกิจนวัตกรรมและตลาดงานที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและมีมูลค่าสูง
จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ ค้นหา พัฒนา หรือดึงดูด Tech Innovator ที่สามารถสร้างหรือมองเห็นโอกาสในการนำ Know-how/Core Technology มาต่อยอดให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมที่มีความเป็นไปได้ (Feasibility) อย่างแท้จริง เพื่อสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและตลาดแรงงานมูลค่าสูง รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมบุคลากร ววน. พัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้/เทคโนโลยีของตนเองเพื่อเป็นรากฐานของประเทศ และผลักดันไปสู่ระดับโลก (Global League)
จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ พัฒนาศักยภาพบุคลากร ววน. ผ่านการส่งเสริมอย่างเป็นระบบให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่สามารถสร้างองค์ความรู้/เทคโนโลยีของตนเอง (High-level Technical Know-how) เพื่อเป็นรากฐานของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรที่มีศักยภาพให้สามารถแสดงศักยภาพในเวทีระดับโลก โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือเป็นแกนนำหลัก หรือ มีบทบาทสำคัญในภาคีเครือข่ายชั้นนำของโลก เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับศักยภาพ ววน. ผ่านกลไกถ่ายโอน ดูดซับ และประยุกต์ใช้ องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูง และความคิดสร้างสรรค์ให้เข้ากับบริบทความต้องการของประเทศ
จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ ยกระดับศักยภาพบุคลากรวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศด้วยกลไกกองทุน ววน. ผ่านการกระตุ้นกระบวนการถ่ายโอน (Knowledge Transfer) ดูดซับ (Absorbed Technology) และประยุกต์ใช้ (Applied Technology) องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงให้เข้ากับบริบทความต้องการของประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ กระตุ้นสร้างการใช้ประโยชน์จากผลผลิตงานวิจัยพัฒนาของบุคลากร ววน. ไทยไปสู่การขยายผล (Scale Up) เชิงพาณิชย์และชุมชนสังคมอย่างคุ้มค่า
ยุทธศาสตร์ที่ 4 จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้บุคลากรเกิดองค์ความรู้ด้าน วทน. ที่ทันสมัยรองรับการทำงานในอนาคต
จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ ระบบการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science Education) รูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนและนักศึกษาเกิดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับการทำงานในอนาคต (Foundation Skills for Future Work) โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดสู่การทำงานที่มีคุณค่า หรือเกิดแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง เพื่อยกระดับระบบการผลิตและพัฒนากำลังคน ววน. ให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ ยกระดับระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมด้วยระบบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคน ววน. อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีการออกแบบการรวบรวมสถิติข้อมูลความต้องการกำลังคนอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลตลอดเส้นทางการพัฒนากำลังคน ววน. ในแต่ละระดับ กลไกการติดตามและประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ในการพัฒนานโยบาย และสนับสนุนการวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน ววน. ของประเทศ พร้อมทั้งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ววน. และส่งเสริมมาตรการ/กลไก/กฎระเบียบที่เอื้อต่อการดึงดูดบุคลากรศักยภาพสูงและการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ แรงจูงใจ และการให้ทุนสนับสนุน